กองทุนเสมอภาคฯ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเข้าเรียนปี 65 เกือบ 1.4 ล้านคน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 6, 2023 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานประจำปี 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในภาพรวมสามารถช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษารวม 1,396,208 คน โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้

1. มาตรการเร่งด่วน คือ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระดมเงินบริจาคจากภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ป.6 และ ม.3 จำนวน 103,987 คน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 302 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ พิษณุโลก ขอนแก่น ยะลา และกรุงเทพมหานคร

2. การดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริม พัฒนา และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่

2.1 กลุ่มเด็กปฐมวัย (ระดับการศึกษาภาคบังคับชั้น ป.1-ม.3)

  • โครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ทุนเสมอภาค) เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ม.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษา ด้วยการอุดหนุนงบประมาณโดยตรงให้กับผู้เรียนในสถานศึกษา 5 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 1,307,152 คน

2.2 กลุ่มเยาวชน ในระดับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ

  • โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 15-17 ปี ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และส่งเสริมให้ได้งานทำเมื่อสำเร็จการศึกษา จำนวน 4 รุ่น รวม 6,599 คน
  • โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ (ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มเยาวชนในระดับชั้น ปวช. หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส. หรืออนุปริญญา) ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ผลการเรียนดีในระดับประเทศได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี-โท-เอก) จำนวน 4 รุ่น รวม 123 คน

2.3 กลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษา และประชากรวัยแรงงาน

  • โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเยาวชน และแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส โดยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาโดยชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความจำเป็น ผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ระดับตำบล จำนวน 110 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด

2.4 กลุ่มครู โรงเรียน และหน่วยจัดการเรียนรู้

  • โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (ครูรัก(ษ์)ถิ่น) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจน หรือด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่มีผลการเรียนดี และมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ และได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตนเอง จำนวน 3 รุ่น รวม 863 คน
  • โครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง) เพื่อพัฒนาโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง และเกิดเป็นต้นแบบในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการและการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ จำนวน 13,281 คน และนักเรียนจำนวน 174,364 คน ได้รับการพัฒนาแล้ว
  • ดำเนินโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะครู จำนวน 685 คน (ครอบคลุมโรงเรียนที่มีอยู่ 68 แห่ง ใน 22 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ) ให้สามารถจัดการเรียนรู้ เสริมทักษะทางวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตรวมทั้งส่งเสริมอาชีพของนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ
  • โครงการต้นแบบการพัฒนาสมรรถนะครูนอกระบบการศึกษา จำนวน 210 คน ส่งผลให้เกิดต้นแบบกลุ่มครูประจำการ ต้นแบบกลุ่มครูนักพัฒนา และต้นแบบกลุ่มครูจิตอาสา
  • โครงการขยายผลการดำเนินงาน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ โดยเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 315 คน ซึ่งเป็นการสร้างเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญร่วมกัน และการร่วมคิดค้นเครื่องมือหรือกลไกที่สามารถนำไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

3. การดำเนินงานเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการทำงานระดับพื้นที่ และการประเมินเพื่อการพัฒนา โดยคาดหวังให้เกิด "แผนบูรณาการระดับจังหวัด" ครอบคลุม 12 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น จ.แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา พิษณุโลก และสุโขทัย

4. การวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวม 24 ชิ้นงาน ครอบคลุมงานวิจัยด้านนวัตกรรมระบบเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และงานวิจัยด้านการประเมินผล

สำหรับรายงานการเงินของกองทุนฯ ณ สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 65 รวมสินทรัพย์สูงกว่ารวมหนี้สิน รวม 2,854.31 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ