นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่ ส.ส.กทม. แถลงข่าวร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังหารือร่วมกันประเด็นความร่วมมือในการพัฒนากรุงเทพฯ และการให้บริการประชาชน
โดยในการหารือครั้งนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กล่าวถึง 21 ข้อเสนอ Empower Bangkok เช่น เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งพรรคก้าวไกล ชื่นชมการทำงานของ กทม. ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน พร้อมระบุว่าหลายข้อเสนอของผู้บริหารกรุงเทพฯ ตรงกับ 300 นโยบายของพรรคก้าวไกล และตรงกับร่างกฎหมายจำนวน 45 ฉบับที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นทันทีเมื่อเปิดสภาฯ
ทั้งนี้ การหารือระหว่างพรรคก้าวไกล กับ กทม. มี 3 ประเด็นหลักที่สำคัญ ดังนี้
- ประเด็นที่ 1 คือข้อเสนอ 21 ข้อของ กทม. ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานกับรัฐสภาในการแก้ไขกฎหมาย พรรคก้าวไกลพร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่งมีวาระเร่งด่วน คือ การบริหารน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน และการตรวจสอบเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน การแก้ปัญหารถติดในกทม. รวมทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกทม. ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากรถยนต์
- ประเด็นที่ 2 ในร่างกฏหมาย 45 ฉบับ ที่พรรคก้าวไกลจะนำเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทม. คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าเขต
- ประเด็นที่ 3 คือ การตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างพรรคก้าวไกล และ กทม. (Bangkok Transition Team) โดยพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอนายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธานฝั่งพรรคก้าวไกล และในส่วนของ กทม. ได้มอบหมายนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน โดยหลังจากนี้ คณะทำงานจะนำข้อเสนอทั้ง 21 ข้อไปประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันให้มีความคืบหน้าต่อไป
นายพิธา ยืนยันว่า ตั้งใจจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหาของกรุงเทพฯ ให้มากที่สุด เช่น การแก้ปัญหาตั๋วร่วมที่ต้องมีราคาถูก การขนส่งโดยรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อให้มีความสะดวก สะอาด และราคาถูกลง
สำหรับปัญหาเรื่องส่วยต่างๆ นั้น นายพิธา กล่าวว่า การประชุมพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อช่วงเช้า ได้มีการตั้งคณะทำงานต่อต้านคอรัปชั่น ต่อต้านส่วย โดยมีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นประธาน ซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ไม่ใช่แค่ส่วยในกทม.เพียงอย่างเดียว ซึ่งคงต้องมีการกิโยตินกฏหมายหรือใบอนุญาตที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อแก้ปัญหา
สำหรับปัญหาท่าเรือคลองเตย ที่ กทม.ตั้งใจจะย้ายออกไปจากกรุงเทพฯ นั้น นายพิธา กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุป และเป็นส่วนหนึ่งที่คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาจะนำไปพิจารณาต่อไป
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การหารือวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งการขับเคลื่อนงานต่างๆ ไปข้างหน้าความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ และการได้หารือตั้งแต่เริ่มทำงาน จะได้มีความเข้าใจร่วมกัน และเชื่อว่าจะเป็นก้าวแรกของการเดินทางไกล และทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
นายชัชชาติ กล่าวถึงเรื่องตั๋วร่วมว่า โจทย์สำคัญ คือ โครงสร้างราคาร่วม ที่จะทำอย่างไรให้ราคาค่าโดยสารถูกที่สุดสำหรับประชาชน ซึ่ง กทม.ไม่สามารถทำเองได้
สำหรับปัญหาท่าเรือคลองเตย ที่ทางกทม. ตั้งใจจะย้ายออกไปนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า จากวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น ทาง กทม.มีแนวทาง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการครบถ้วน หากรัฐบาลใหม่เข้ามา หรือ ส.ส.กทม.ของพรรคก้าวไกล ช่วยผลักดันในส่วนนี้ ก็จะทำให้สามารถดำเนินการตามแผนได้จริง