นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นปัญหาขาดแคลนแพทย์ว่า ปัจจุบันมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอต่อภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น และยังรวมถึง พยาบาล ทันตแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และวิชาชีพอื่น ๆ เป็นประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังขาดแคลนอยู่
ปัจจุบันมีแพทย์ที่อยู่ในระบบขึ้นทะเบียนจำนวน 50,000 - 60,000 คน แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงฯ 24,649 คนคิดเป็น 48% ในขณะที่ภาระงานจะอยู่ที่ประมาณ 45 ล้านคนของจำนวนประชากรที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยภาระงานเฉลี่ยแพทย์อยู่ที่ 1:2000 คน ซึ่งตามมาตรฐานของโลกมีสัดส่วนอยู่ที่ 3:1000 คน
"เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 กระทรวงฯได้ประเมิน พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานเกิน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถึง 9 แห่งจาก 117 แห่ง ในขณะที่มาตรฐานโลกชั่วโมงการทำงานต้องต่ำกว่า 40 ชั่วโมง ซึ่งในต่างประเทศมีจำนวนแพทย์เป็นแสนคน กระทรวงฯมีแผนทำให้ดีขึ้น แต่อย่างที่บอกถ้าต้นน้ำมันน้อย น้ำไหลมาน้อย ก็ยังต้องแล้งกันอยู่" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ในขณะที่การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ทางกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีแผนที่จะผลิตแพทย์เพิ่มเติมในระบบ โดยปรับกรอบอัตราเพิ่มกำลังใหม่ซึ่งจะประกาศใช้ในปี 65 - 69 วางกรอบของแพทย์ไว้ที่ 35,000 คนในปี 69 อีกทั้งต้องพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการขยายอัตราบรรจุแพทย์เพิ่ม รวมทั้งแนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับวิชาชีพอื่น ๆ เช่นพยาบาล
สำหรับการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ
1.การเพิ่มค่าตอบแทน มีการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ
2.สวัสดิการ ทั้งเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
3.ความก้าวหน้าในการทำงาน ได้หารือกับ ก.พ. เรื่องกรอบอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น
4.เรื่องภาระงาน ยังต้องผลิตแพทย์และขอรับการจัดสรรเพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ โดยกรอบอัตรากำลังใหม่ที่ประกาศใช้ปี 2565-2569 ในปี 2569 กำหนดอัตราแพทย์ 35,000 คน รวมทั้งมีการหารือกับ ก.พ. ในการบริหารกำลังคนรูปแบบใหม่ๆ และการจ้างงานที่หลากหลาย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงเรื่องการบริหารงานบุคลากรที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของกทม. 2 หน่วยงาน คือ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว ขณะนี้ได้เพิ่มอัตรากำลังคนที่ขาดแคลน
ปัจจุบัน ได้เร่งปรับการดำเนินการและปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการเปิดสอบในตำแหน่งดังกล่าว แต่ไม่มีคนมาสมัครสอบ หรือสอบแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง กทม. จะเร่งดำเนินการสรรหาบุคลากรให้เพียงพอในอัตราที่ขาดแคลนให้เร็วที่สุด