กระทรวงสาธารณสุข หารือร่วม 4 ชมรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เดินหน้ายกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขไทย ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงตติยภูมิ ปักธงเป็นโรงพยาบาลของประชาชน กำชับดูแลภาระงานบุคลากรทุกวิชาชีพให้เหมาะสม รวมถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการ ให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการแพทย์ทางไกลช่วยลดภาระงาน เล็งหารือ สปสช. เรื่องจัดบริการและงบประมาณ ส่วนอัตรากำลังไม่เพียงพอจะประสาน ก.พ.ต่อไป
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ประชุม "ความร่วมมือยกระดับบริการสาธารณสุขไทย"
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า วันนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานการประชุมเครือข่ายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 4 ชมรมแพทย์และสาธารณสุข เพื่อหารือการบริหารงานและการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขของประเทศไทยในประเด็นสำคัญต่างๆ
อาทิ การจัดบริการระดับปฐมภูมิในช่วงการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และทิศทางในอนาคต, การพัฒนายกระดับศักยภาพการให้บริการและการลดภาระงาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการแพทย์ทางไกล ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยไซเบอร์ และการดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ ทั้งด้านภาระงานที่เหมาะสม สวัสดิการต่างๆ เช่น บ้านพัก ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าทางสายอาชีพ และชีวิตส่วนตัว
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับผลการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขที่ผ่านมา มีความก้าวหน้า ดังนี้
1. ด้านการพัฒนายกระดับศักยภาพหน่วยบริการ มีนโยบายทศวรรษแห่งการยกระดับระบบบริการสาธารณสุขไทย เพื่อเป็นโรงพยาบาลของประชาชน มอบหมายผู้บริหารทุกระดับจัดทำแผนการยกระดับศักยภาพหน่วยบริการ พร้อมให้ประเมินเปรียบเทียบภาระงานและระบบบริหารจัดการ เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม โดยด้านภาระงาน ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่บุคลากรทางการแพทย์มีชั่วโมงการทำงานมาก ซึ่งมีการวางแผนแก้ไขภายใน 3 เดือน
2. ด้านสวัสดิการ บ้านพักเจ้าหน้าที่ ขณะนี้โรงพยาบาลได้จัดทำแผนก่อสร้างเพิ่มเติมใน รพ. 347 แห่ง โดยใช้เงินงบประมาณหรือเงินบำรุงหน่วยบริการ
3. ด้านค่าตอบแทนบุคลากร มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาตามข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2566
4. ด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เช่น แพทย์ระดับเชี่ยวชาญ พยาบาลระดับชำนาญการพิเศษ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ในรพ.สต. และผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นต้น
5. ด้านชีวิตส่วนตัว ขณะนี้มีการสำรวจสถานะการเงินของบุคลากร เพื่อนำเข้าสู่แผนการสร้างความมั่นคงทางการเงิน (Happy Money)
อย่างไรก็ดี ปัญหาบางเรื่องต้องมีการประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่
- ด้านคุณภาพการผลิตบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์ จะหารือกับแพทยสภาและศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ทั้งจำนวนแพทย์ ศักยภาพประสิทธิภาพในการทำงาน และการจัดสรรแพทย์ใช้ทุน เป็นต้น
- ด้านอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ ขวัญกำลังใจในการบรรจุข้าราชการของบุคลากร ซึ่งอยู่ภายใต้ระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะมีการประสานกับ ก.พ. เพื่อพิจารณาระบบการบริหารกำลังคนต่อไป
- ด้านงบประมาณและภาระงานในการจัดบริการ ปัจจุบันแหล่งงบประมาณหลักของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับจัดสรรตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นระบบเหมาจ่าย แต่มีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมมากขึ้น ส่งผลถึงภาระงานบริการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาระงานด้านการจัดส่งข้อมูล จะมีการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทั้งการจัดบริการและงบประมาณที่ได้รับต่อไป
สำหรับการประชุมในวันนี้ มีข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อให้แต่ละชมรมได้มีการสื่อสาร บริหารจัดการ และดำเนินการในหน่วยงาน ดังนี้
1. ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด บริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันในระดับจังหวัด (One Province One Hospital) ให้สามารถพัฒนาศักยภาพเป็นโรงพยาบาลของประชาชนในระดับจังหวัด
2. ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป บริหารจัดการพัฒนาการจัดระบบบริการ และดูแลบุคลากรในด้านภาระงานที่เหมาะสม ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ ระบบการเรียนการสอนและงานวิจัย
3. ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ยกระดับศักยภาพการบริการในโรงพยาบาลตามมาตรฐาน และความต้องการของประชาชน เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลของประชาชนในพื้นที่
4. ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จัดบริการ ควบคุม กำกับระบบบริการปฐมภูมิตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ, พ.ร.บ.การสาธารณสุข และพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแต่ละชมรมฯ รับไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละระยะ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร ยกระดับการบริการตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ พัฒนาระบบสาธารณสุขให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป