ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ส่วยสติกเกอร์ รถบรรทุก"เกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการบรรทุกน้ำหนักของรถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 82.90 ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด รองลงมา ร้อยละ 11.45 ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกไม่เกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด และร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่มั่นใจ
เมื่อถามความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด และผู้ที่ระบุว่าไม่มั่นใจ (จำนวน 1,160 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสาเหตุที่ทำให้รถบรรทุกมีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 73.36 ระบุว่า เพื่อลดต้นทุน ค่าขนส่ง รองลงมา ร้อยละ 63.19 ระบุว่า เพื่อเพิ่มกำไรในธุรกิจขนส่ง ร้อยละ 27.07 ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดไม่สะท้อน ความเป็นจริงในปัจจุบัน และร้อยละ 0.09 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
สำหรับความเชื่อของประชาชนต่อข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.76 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 10.08 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เชื่อมาก ค่อนข้างเชื่อเกี่ยวกับข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก และไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ (จำนวน 1,133 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 75.55 ระบุว่า เจ้าของรถบรรทุกยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ รองลงมา ร้อยละ 75.11 ระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องการหาผลประโยชน์ ร้อยละ 26.13 ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เชื่อมาก ค่อนข้างเชื่อเกี่ยวกับข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก และไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ (จำนวน 1,133 หน่วยตัวอย่าง) ถึงความเชื่อของประชาชนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกได้จริง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 30.36 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 27.80 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 17.83 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
"นิด้าโพล" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0