นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของ กทม. ตลอด 1 ปี หรือ "365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน" ผ่าน "9 ด้าน 9 ดี" ว่า กทม. เริ่มดำเนินการไปแล้ว 211 นโยบาย จากทั้งหมด 226 นโยบาย โดยมี 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และอีก 4 นโยบายที่ยุติการดำเนินการ ดังนี้
1. เดินทางดี :
- เดินได้ เดินดี โดยปรับปรุงทางเท้าไปแล้ว 221.47 กิโลเมตร และคืนทางเท้าให้ประชาชน 140 จุด
- เพิ่มความคล่องตัวการเดินทาง โดยการคืนผิวจราจร และเทศกิจช่วยดูแลจราจร 890 จุดทุกวัน
- ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง โดยติดตั้งจุดจอดจักรยาน 100 จุด
- ป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยการลอกท่อ 7,115.4 กิโลเมตร และลอกคลอง เปิดทางน้ำไหล รวม 2,948 กิโลเมตร
"สถานการณ์น้ำท่วมน่าจะดีขึ้น เพราะกทม. มีการปรับปรุงแต่ละจุด และแก้ไปได้เกินครึ่งแล้ว มีระบบเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอยต่อเนื่อง ทำอุโมงค์เพิ่ม หลายคนบอกช่วงฝนตกที่ผ่านมาน้ำลงเร็วขึ้น เชื่อว่าระบบใหญ่ค่อนข้างดีแล้ว มีสิ่งที่อาจคาดการณ์ยากนิดนึงคือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ทำให้ฝนตกบางจุดมากกว่าปกติ แต่เทคโนโลยีจะช่วยทำให้กทม. ทำงานได้เร็วขึ้น" นายชัชชาติ กล่าว
2. ปลอดภัยดี :
- แก้ไขจุดเสี่ยงภัยและอาชญากรรม อาทิ ปรับปรุงทางม้าลาย, แก้ปัญหาไฟฟ้าดับ 28,000 ดวง, ติดตั้งกล้องป้องกันภัยด้านอาชญากรรมเพิ่ม 160 กล้อง และสามารถขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ภายใน 24 ชั่วโมง
- เพิ่มทรัพยากร ทักษะ และข้อมูลความปลอดภัยชุมชน/ สร้างระบบเครือข่ายในพื้นที่จัดการสาธารณภัย โดยพัฒนาแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตแล้วเสร็จ 25 สำนักงานเขต
3. โปร่งใสดี :
- รายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม. ผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue โดยสามารถแก้ปัญหาฟองดูว์ได้แล้ว 200,000 แสนเรื่อง จากทั้งหมด 300,000 เรื่อง และเปิดเผยชุดข้อมูล 720 ชุด ตามความต้องการของประชาชน
- เผยแพร่ข้อมูล เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ขออนุญาตบริการออนไลน์ (Open Bangkok)
- ยกระดับความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. และเพิ่มช่องทางรับเรื่อง
"ที่ผ่านมา การดำเนินการเรื่องทุจริตคอร์รัปชันยากที่สุด เพราะคือสารตั้งต้น ถ้าไม่มีความโปร่งใส ประชาชนก็จะไม่ไว้ใจ ต้องเริ่มจากฝ่ายบริหาร การแต่งตั้งที่เป็นธรรม ที่ผ่านมาประชาชนแจ้งเรื่องนี้เยอะมาก ถ้ากทม. ทำตรงนี้ให้โปร่งใสได้ ก็จะมีงบไปทำเรื่องอื่น บอกทีมงานเสมอว่าที่แจ้ง Traffy Fondue เข้ามา 3 แสนเรื่อง ไม่ได้แสดงว่าเราอ่อนแอ แสดงว่าประชาชนไว้ใจเรา เราแก้ปัญหาให้เขาได้" นายชัชชาติ กล่าว
4. สิ่งแวดล้อมดี :
- เพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ โดยกทม. สามารถปลูกต้นไม้แล้ว 400,000 ต้น และสวน 15 นาที เพิ่ม 28 แห่ง
- จัดการขยะ อากาศ น้ำเสีย โดยตรวจฝุ่น 9,291 สถานประกอบการ, ตรวจควันดำ 131,537 คัน, ประชาชนและผู้ประกอบการร่วมโครงการแยกขยะมากกว่า 6,400 ราย ขยะลดลง 300-700 ตัน/วัน
5. สุขภาพดี :
- สนับสนุนและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชนทุกกลุ่ม อาทิ 22 คลินิกเพศหลากหลาย
- ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิ และเครือข่ายสาธารณสุข/ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ/ พัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล อาทิ ลดระยะเวลาในการสรุปข้อมูลการส่งตัวผู้ป่วยจาก 1 วัน เป็น 1 ชั่วโมง
6. เรียนดี :
- ส่งเสริมการเรียนรู้ เด็กเล็กก่อนวัยเรียน (2-6 ปี) อาทิ ปรับค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริม เป็น 32 บาท/คน และให้ค่าวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเป็น 600 บาท/คน
- พัฒนาสวัสดิการครูและนักเรียน อาทิ อุดหนุนค่าอาหาร ค่าชุด 1,171 ล้านบาท, แจกผ้าอนามัย 380,772 ชิ้น และหมวกกันน็อก 120,000 ใบ
- Transform หลักสูตร และห้องเรียนดิจิทัล อาทิ ติดตั้งคอมพิวเตอร์ 21,553 เครื่อง และเพิ่มวิชาชีพเลือกเสรี 109 โรงเรียน
7. เศรษฐกิจดี :
- เพิ่มโอกาสตลาดแรงงาน ฝึกอาชีพคนเมือง อาทิ สร้างการจ้างงานคนพิการรวม 489 ตำแหน่ง
- เพิ่มพื้นที่ Hawker Center ตลาดค้าขาย
- ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) และเศรษฐกิจย่าน อาทิ 12 เดือน 12 เทศกาล
8. สังคมดี :
- เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ ดนตรีในสวน 13 สวน 156 วงดนตรี
- สนับสนุนเงื่อนไขการดำรงชีพคนไร้บ้าน คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง อาทิ ปรับปรุง 62 อาคาร ให้ Universal Design ทุกคนเข้าถึงได้ และเปิดจุดบริการคนไร้บ้าน คนไร้บ้านลดลง 490 คน จากปี 65
- สร้างชุมชนเข้มแข็งร่วมพัฒนา โดยการจัดตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) 525 ชุมชน
9. บริหารจัดการดี :
- ระบบงาน เงิน คน ระเบียบที่มีประสิทธิภาพ อาทิ จัดสรรงบปี 66 กว่า 5,024 ล้านบาท ลงเส้นเลือดฝอย, จัดสรรงบ 200,000 บาท/ชุมชน, ที่ดินในกทม. 99.42% ถูกประเมินเพื่อจัดเก็บภาษี และจัดทำงบแบบ Zero Base Budgeting กว่า 1,000 ล้านบาท
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมบริหารจัดการเมือง เช่น ตั้งสภาเมืองคนรุ่นใหม่ และประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผู้อำนวยการเขต และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผู้ว่าฯ กทม. (เม.ย-พ.ค. 66) อยู่ที่ 72.40%
นอกจากนี้ กทม. ได้สานต่อโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ ปรับปรุง รพ.กลาง, ก่อสร้าง รพ.บางนา, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด, โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกาย ช่วงที่ 2, โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และหัวหมาก, รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน, รถไฟฟ้าสายสีเงิน และรถไฟฟ้าสายสีเทา
ขณะเดียวกัน กทม. ได้ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ (เริ่มใหม่) ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย, โครงการต่อเชื่อมพุทธมณฑลสาย 3 กับ 4, โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์สมโภช ถนนนิมิตใหม่, กำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขยะ 1,000 ตันต่อวัน และก่อสร้างอาคาร รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์
ส่วนการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว จะส่งผลต่องบประมาณของ กทม. หรือไม่นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องมองไปในอนาคต เพราะหลังปี 2572 จะมีกระแสเงินสด (Cash Flow) เข้ามาในส่วนของรายได้ ขณะเดียวกัน ในกรณีที่กทม. ต้องจ่าย รัฐบาลก็อาจจะทยอยจ่าย แต่ดีที่สุดคือรัฐบาลช่วยจ่ายให้ ดังนั้น ถ้ากทม. เป็นหนี้จริงก็ต้องมีผลกระทบ ซึ่งก็ต้องมีความรอบคอบมากขึ้น