กรมปศุสัตว์ ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนใช้วิธีสำแดงสินค้านำเข้าเป็นปลาและอาหารทะเล โดยจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร เพื่อแลกกับการไม่ถูกตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบการนำเข้าหมูเถื่อนอย่างแน่นอน ตลอดจนไม่มีการเรียกรับเงินแลกกับการไม่ตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ผู้นำเข้าสินค้าสำแดงเท็จเป็นปลาและอาหารทะเลตามที่เป็นข่าว เนื่องจากตามขั้นตอนการนำเข้าสินค้าปลาและอาหารทะเลนั้น ด่านกักกันสัตว์ท่าเข้าของกรมปศุสัตว์จะไม่ได้รับแจ้งการขออนุญาต จึงไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบสินค้าแต่อย่างใด
ดังนั้น ผู้ลักลอบนำเข้า จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ แต่หากมีการสำแดงสินค้านำเข้ากลุ่มปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ท่าเข้าของกรมปศุสัตว์จะตรวจสอบทุกตู้
ในทางกลับกัน กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ติดตามตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ตามห้องเย็นทั่วประเทศ ทั้งยังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ติดตามตรวจสอบการลักลอบตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถจับกุมและตรวจยึดเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่ลักลอบนำเข้าภายใต้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 65
สำหรับผลงานการเข้าตรวจสอบเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนที่ผ่านมานั้น ได้เข้าตรวจสอบผู้ประกอบการ 510 ครั้ง สามารถยึดอายัดซากและชิ้นส่วนสุกรและฝังทำลายแล้ว รวมปริมาณ 1,031,536 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 173,024,174 บาท ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จัดพิธีฝังทำลายซากสุกร ที่ตรวจสอบพบและดำเนินคดีกว่า 7 แสนกิโลกรัมหรือ 700 ตัน ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมี รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 66
จากการตรวจสอบและจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ลักลอบนำเข้าไม่สามารถนำซากสัตว์มาเก็บรักษาในห้องเย็นและส่งจำหน่ายได้สะดวก ส่งผลให้มีตู้สินค้าตกค้างในเขตอารักขาของด่านศุลกากรจำนวนมาก จนกระทั่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการโครงการท่าเรือสีขาว ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเปิดตู้ตรวจสอบสินค้าตกค้าง ณ ด่านศุลกากรแหลมฉบัง โดยมีรายงานจากด่านศุลกากรแหลมฉบังว่า พบตู้สินค้าเนื้อหมูและชิ้นส่วนตกค้าง 161 ตู้ ปริมาณซากหมูกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัม
นายสัตวแพทย์สมชวน ย้ำว่า กรมปศุสัตว์ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่เชื้อโรคอาจติดมากับเนื้อหรือชิ้นส่วนสุกรที่ไม่ได้รับการตรวจสอบแหล่งผลิตและไม่อนุญาตให้นำเข้า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากโรคและสารตกค้าง รวมถึงปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าซากสัตว์มาแทรกแซงกลไกการตลาดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย
ด้านนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยวานนี้ (14 มิ.ย.) ว่า ตามที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร ได้ตรวจยึดซากสุกรแช่แข็งตกค้าง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้
จากการตรวจสอบพบซากสัตว์ที่ยึดได้ทั้งหมด มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศและไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ประกอบกับไม่มีเอกสารรับรองการฆ่าสัตว์หรือสุขศาสตร์ของสัตวแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด หรือพาหะของโรคระบาดสัตว์ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศได้
กรมศุลกากร ได้อายัดตู้ทั้งหมดและได้ดำเนินการจนคดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 159 ตู้ น้ำหนักรวม 4,313,850 กิโลกรัม และมีหนังสือส่งมอบให้ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา เพื่อทำลายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกอบระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2563 ทั้งนี้ อีก 2 ตู้ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงไม่สามารถส่งมอบเพื่อไปทำลายได้
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมศุลกากร ได้ยื่นหนังสือให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในความผิดนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งได้เพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทสุกรมีชีวิต เนื้อสุกร และเครื่องในสุกร โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการของกลาง ซึ่งประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อเป็นการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นต่อไป