นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ว่า ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์น้ำฝน ที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณน้ำ รวมทั้งการถอดบทเรียนน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งติดตามข้อสั่งการ ความคืบหน้าของจุดเสี่ยงทั้ง 737 จุด ว่าเขตเตรียมความพร้อมถึงไหนแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าจุดเสี่ยงน้ำท่วมปีนี้ต้องดีขึ้นกว่าเดิม
ต่อมาได้มีการเตรียมซักซ้อมในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น บทบาทแต่ละหน่วยงานต้องทำอย่างไร สำหรับเขื่อนกั้นน้ำอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยขณะนี้ตีเขื่อนทั้งหมดแล้ว เหลือแค่ลงถุงซีเมนต์เพื่อเติมในช่องว่าง แต่คาดว่าทุกจุดจะแล้วเสร็จทันน้ำเหนือน้ำหนุนที่จะมาช่วงปลายเดือน ต.ค.-ต้นเดือน พ.ย. นี้ ส่วนจุดที่เป็นฟันหลอ ปัจจุบันรู้ว่าจุดอ่อนจากจุดฟันหลออยู่ตรงไหน จึงได้เตรียมกระสอบทรายและเตรียมความพร้อมไว้แล้ว
*พร้อมรับมือภัยแล้ง-เอลนีโญ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องภัยแล้ง ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่าฝนน้อยลง จึงต้องเตรียมการให้สมดุลกันระหว่างการพร่องน้ำกับการเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขตรอบนอกที่มีการเกษตรอยู่ โดยกทม. ได้มีการจัดทำฝายดักน้ำ 17 แห่ง เพื่อชะลอและกักเก็บน้ำสำหรับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้รายงานถึงปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ซึ่งเป็นสภาวะปัจจุบันและจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 67 ส่งผลให้อุณหภูมิของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ปีนี้คาดการณ์ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 358 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมของสำนักการระบายน้ำและ 6 กลุ่มเขต พร้อมได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาและสถานการณ์ฝนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขสถานการณ์ มีเรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศ 2 แห่ง ที่หนองแขม และหนองจอก มีจุดตรวจวัดน้ำท่วม ดังนี้ จุดตรวจวัดถนน 100 แห่ง จุดตรวจวัดอุโมงค์ทางลอดรถ 8 แห่ง สถานีเครือข่ายตรวจวัดระดับน้ำ 255 แห่ง มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่อเนื่อง ทั้งจังหวัดปริมณฑล (ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ) การไฟฟ้านครหลวง และกรมชลประทาน