นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
โดยมีโครงการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ได้แก่ โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ชีตอนกลาง ซึ่งพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภค ปัญหาด้านคุณภาพน้ำ อยู่ในเกณฑ์สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (61-80) เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน
พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาขา 9 ลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุมพื้นที่ 459 ตำบล 67 อำเภอ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.มุกดาหาร จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด และ จ.อุดรธานี รวมพื้นที่ประมาณ 12.85 ล้านไร่
จากผลการศึกษาสภาพปัญหาหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง พบว่า มีแผนงานโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานปกติของหน่วยงาน และโครงการเสนอเพิ่มเติมสอดคล้องตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี จำนวน 2,978 โครงการ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะกลาง (ปี 68-70) จำนวน 2,947 โครงการ และระยะยาว (ปี 71-80) จำนวน 31 โครงการ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,250 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 998,000 ไร่ ลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างได้ 207 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่น้ำท่วมลดลง 684,000 ไร่ สามารถช่วยเติมน้ำให้แหล่งน้ำขนาดเล็กตลอดสองฝั่งลำน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ 1,348 แห่ง รวมทั้งมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 28 แห่ง
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาโครงการเบื้องต้น จำนวน 13 โครงการ ที่มีความสำคัญเร่งด่วนต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ/ระบบส่งน้ำให้ครบทุกลุ่มน้ำสาขา จัดหาแหล่งน้ำแบบพึ่งพาตนเอง (โคก หนอง นา โมเดล) เนื่องด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้งสูง ทำให้ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้สมดุลมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำภาคการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย การปรับปรุงคุณภาพน้ำที่มีการปนเปื้อนในแหล่งน้ำดิบ (ระบบประปาบาดาล) การตัดยอดน้ำหลากจากการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติริมแม่น้ำ การฟื้นฟูคุณภาพน้ำในลำน้ำชีพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง สนับสนุนแนวคิดการจัดทำโครงการไร่ นา ป่า ครอบครัว ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำในระดับแปลงนา ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี เพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนในทุกมิติ
ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนอีก 2 ครั้ง โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 66 นี้ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ นำไปประกอบการปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนแผนงานแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงต่อไป