นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังร่วมโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน บางรัก ว่า การนำสายสื่อสารลงดิน เป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งในแง่ของการลงทุน และกระบวนการต่างๆ โดยมี 2 รูปแบบ คือ
1. การไฟฟ้านครหลวง (MEA) หรือ กฟน. หักเสาแล้วนำสายไฟฟ้าลงดิน แต่การทำแบบนั้นต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งสายที่เห็นรกรุงรังนั้น ไม่ใช่สายไฟฟ้าแต่เป็นสายสื่อสาร โดยการไฟฟ้านครหลวง มีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 230 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งกรุงเทพฯ มากกว่า 2,000 กิโลเมตร แล้วสายสื่อสารก็จะตามลงไปด้วย
2. การตัดสายสื่อสารให้เป็นระเบียบ ใช้งบประมาณต่ำกว่าและทำได้เร็วกว่ามาก โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ดังนั้น วันนี้จึงเริ่มกระบวนการที่ทำตรงนี้ก่อน ซึ่งก็จะทำให้เมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ต้องใช้งบประมาณ และระยะเวลา
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการตัดสายสื่อสาร ไม่ใช่ กทม.จะสามารถตัดได้เองเลย เนื่องจากสายสื่อสารอยู่ในการควบคุมของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ส่วนเสาไฟฟ้า เป็นของการไฟฟ้านครหลวง และตัวสายสื่อสาร ก็เป็นของผู้ประกอบการ Operator ต่างๆ
"ต่อไปคงต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น ซึ่งในปีแรก อาจจะช้าในเรื่องของการประสานงาน ก็ต้องขอบคุณ กสทช. และผู้ประกอบการ Operator ต่างๆ รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง ที่มีการประชุมประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง" นายชัชชาติ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปีนี้จะเพิ่มเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารให้มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นถึงความคืบหน้าและเมืองที่เป็นระเบียบมากขึ้น โดยในปี 66 การไฟฟ้านครหลวง มีแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นระยะทางทั้งสิ้น 450 กิโลเมตร รับผิดชอบในการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงจะมีการบันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) เพื่อบริหารจัดการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกัน ในการทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบ และสอดคล้องกับการเพิ่มไฟฟ้าแสงสว่างทั้งเมืองกว่าแสนดวง โดยเปลี่ยนเป็นหลอด LED รวมถึงเสาไฟฟ้า ยังสามารถควบคุมความสว่างด้วยระบบ lot ได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Smart City อีกด้วย" นายชัชชาติ กล่าว
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้ได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง ในการลงทะเบียนสายสื่อสารใหม่ให้เป็นระเบียบ ก่อนที่จะพาดสายสู่เสาไฟฟ้า ซึ่งทำให้ทราบว่าสายดังกล่าวเป็นของผู้ประกอบการรายใด ที่ผ่านมา มีการพาดสายสื่อสารโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือเป็นสายเถื่อน
อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้จะชัดเจนขึ้น และทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น โดยเฉพาะถนนเจริญกรุง คาดว่าจะตัดสายสื่อสารหมดประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ต่อจากนั้นจะดำเนินการต่อที่ศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ซอยพิพัฒน์ แถบย่านนี้ ส่วนต่อไป คือ ถนนสุขุมวิท ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วที่ซอย 13 และเดือนหน้า (ก.ค.66) จะดำเนินการที่ซอย 11, 15, 17, 19 และซอย 36 อีกด้วย