พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า หลังจากออกหมายเรียกอดีตผู้บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) 2 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท และ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ DSI ได้ส่งหมายไปยังที่อยู่ของทั้งคู่ทางไปรษณีย์ คาดว่าน่าจะได้รับในเร็วๆนี้
หากบุคคลทั้งสองคนได้รับหมายเรียกแล้วก็สามารถแจ้งเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้ หากยังไม่มาและไม่ติดต่อกลับใดๆ DSI ก็จะออกหมายเรียกซ้ำอีก ถ้ายังไม่มาอีกหรือหายเงียบติดต่อไม่ได้ ก็จะขอศาลอนุมัติหมายจับตามพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหามีเจตนาตั้งใจหลบหนี
ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวว่า นายชนินทร์ อาจไม่ได้อยู่อยู่ในประเทศไทยแล้วนั้น พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแต่ถ้าไม่มากตามหมายเรียกและไม่มีการตอบกลับใดๆ ไม่ได้มอบหมายทนายความมาชี้แจง ก็จะถือว่าเป็นพฤติกรรมการขัดต่อหมายเรียก มีเจตนาตั้งใจหลบหนี ก็จะขอศาลอนุมัติหมายจับ แต่หากผู้ต้องหาประสานเข้ามาว่าต้องการกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก็ยืนยันว่าจะรอเพื่อที่เจ้าตัวจะได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย
ขณะที่นายศรัทธา ได้ไปเปิดเผยรายละเอียดกับสื่อยอมรับว่าตกแต่งบัญชีตามคำสั่งของผู้ถิอหุ้นใหญ่และผู้บริหารบริษัทนั้น พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุว่า ถือเป็นสิทธิของบุคคลที่จะพูดอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาให้ปากคำในฐานะผู้ต้องหาก็จมีหน้าที่มาชี้แจง เพื่อพนักงานสอบสวนจะทำการบันทึกถ้อยคำให้การเหล่านั้น ก่อนนำไปพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆที่รวบรวมไว้
สำหรับอีก 4 บริษัทในเครือ STARK ได้แก่ เฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์), อดิสรสงขลา, ไทยเคเบิ้ลอินเตอร์เนชั่นแนล และ เอเชียแปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง เราได้มีการวางกรอบอยู่ในแผนของการสอบสวนว่าจากนี้จะมีการออกหมายเรียกให้ผู้บริหารและกรรมการบางส่วนเข้ามาให้การในฐานะพยาน เนื่องจากพยานหลักฐานและการสืบสวนเบื้องต้นพบว่าในบรรดากรรมการของบริษัทเหล่านี้อยู่ในรายชื่อ 7 คนที่เคยยื่นลาออกจาก STARK และบริหารงานในช่วงที่นายชนินทร์ เย็นสุดใจ เป็นประธานกรรมการ เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการตกแต่งบัญชีที่เกิดขึ้น
พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ประเด็นที่พนักงานสอบสวนจะใช้ในการสอบปากคำ หรือเอกสารประกอบการให้ปากคำนั้น ส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ถูกแจ้งไป อาทิ เอกสารทั้งหมดของ STARK และ บริษัท เฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น รวมถึงบริษัทต่างๆที่มีความเกี่ยวข้อง
พนักงานสอบสวนจะต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ประกอบพิจารณากับคำให้การของพยานบุคคลทุกราย ก่อนมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาแก่คนอื่นๆ หรืออาจจะเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา หากมีพฤติการณ์สอดคล้องเข้าองค์ประกอบฐานความผิดใด
ส่วนการอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหุ้น STARK นั้น ยังคงอายัดไปเพียง 100 ล้านบาท ไม่ได้อายัดเพิ่มเติม แต่ยืนยันว่าจะเร่งติดตามรายการทรัพย์สินให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย ขณะที่ในด้านผู้เสียหายอยากให้มอบหมายตัวแทนของกลุ่มมาให้ปากคำ เพราะคดีนี้ไม่เหมือนคดีแชร์ลูกโซ่ เพราะมีเป้าหมายจะดำเนินคดีกับผู้บริหารที่กระทำความผิด จึงจำเป็นต้องสอบปากคำผู้เสียหายจำนวนไม่มากเท่านั้น
ขณะที่ทางด้านผู้เสียหายในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ ตนมองว่าพวกเขาจะต้องรวมกลุ่มเพื่อดำเนินการฟ้องแพ่ง เพื่อให้บริษัทฯ มีการจ่ายค่าตอบแทน หรือดอกเบี้ยตามตามกำหนดระยะเวลาที่พวกเขาไปซื้อหุ้นกู้ อีกทั้งเมื่อครบสัญญาของหุ้นก็จะต้องคืนเงินต้นด้วย แต่ในกรณีนี้เกิดปัญหาที่บริษัทฯไม่มีเงินจ่าย
"การซื้อหุ้นกู้ เป็นเหมือนการลงทุนหุ้น ซึ่งมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว และไม่ใช่การถูกหลอกเหมือนแชร์ลูกโซ่ที่ต้องเอาเงินจากผู้ลงทุนรายเก่ามาหมุนเวียนจ่ายให้รายใหม่ พอไม่มีเงินหมุนเวียน แชร์จึงล้ม แต่การลงทุนหุ้นกู้นั้น มันมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนเข้าใจตั้งแต่ต้น"พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กล่าว