พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ร่วมกับนายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ผู้บริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) แถลง "ปฏิบัติการยุบวงจร หลอกลงทุนกลุ่มอมตะนคร" ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแล้วจำนวน 185 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 25.9 ล้านบาท
โดยจากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ในขณะนี้มีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ต้องหา และขยายผลจับกุมได้แล้วหลายราย โดยมีรูปแบบและความเชื่อมโยงในการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันจำนวนหลายคดี ในส่วนของผู้ต้องหารายอื่น กำลังอยู่ระหว่างสืบสวนเร่งติดตามตัว และขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกลุ่มมิจฉาชีพ สร้างเฟซบุ๊กปลอมจำนวนมาก โดยใช้ภาพ ข้อความ โฆษณาต่าง ๆ รวมถึงการใช้ภาพของนายวิกรม กรมดิษฐ์ (กรรมการผู้จัดการและกรรมการ AMATA) เป็นเครื่องมือเพื่อชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนกับกองทุนอมตะ จากนั้นคนร้ายจะให้เพิ่มเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลอ้างตัวเป็นโบรกเกอร์ของทางบริษัท ซึ่งไลน์ที่ใช้จะมีชื่อแตกต่างกันไป โดยตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกับบริษัทเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ อาทิ amata4978, amataservice7891, service worker, Amata2788, Inmot_88 เป็นต้น โดยมีการแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบและแผนการลงทุนธุรกิจ รวมถึงผลตอบแทนต่าง ๆ ซึ่งมีการสร้างความน่าเชื่อถือและอ้างผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในอัตราที่สูงเกินจริง
โดยมิจฉาชีพจะชักชวนให้เปิดพอร์ตการลงทุนแบบระยะสั้น ในครั้งแรก มักให้เหยื่อทดลองทำการโอนเงินจำนวนน้อย ๆ จากนั้นจะอ้างเหตุผลต่างๆ ให้เหยื่อเติมเงินเพื่อเทรดหุ้นเพิ่มอีกจำนวนหลายครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน จากนั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นกระทั่งถึงหลักแสน ซึ่งคนร้ายจะนำผลกำไรมาแสดงและแจ้งกลับมาให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและดีใจ
กระทั่งเมื่อผู้เสียหายต้องการเบิกเงินออกมาและขอปิดบัญชี มิจฉาชีพจะอ้างว่าต้องเสียค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นเงินจำนวนหลักแสนบาท หากผู้เสียหายไม่โอนเงิน ก็จะไม่สามารถถอนเงินได้ หากผู้เสียหายไม่ยินยอมคนร้ายก็จะต่อว่า และตัดขาดการติดต่อกับผู้เสียหายในที่สุด