น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จำนวน 15 ฉบับ ซึ่งจะมีการลงนามและรับรองร่างเอกสารต่างๆ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ระหว่างวันที่ 11-14 ก.ค. 66 ณ กรุงจาการ์ตา โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ
สำหรับเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 15 ฉบับ แบ่งเป็นร่างเอกสารที่จะร่วมรับรอง (adopt) จำนวน 12 ฉบับ และร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
- ฉบับที่ 1 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ภายใต้หัวข้อหลัก "อาเซียนเป็นศูนย์กลางสรรค์สร้างความเจริญ"
- ฉบับที่ 2 ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสะท้อนถึงการครบรอบ 20 ปี ของการภาคยานุวัติเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของจีน ซึ่งเป็นเอกสารแสดงถึงความสำคัญของการครบรอบ 20 ปี ที่ทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันปฏิบัติตามพันธกรณีสนธิสัญญา TAC โดยเสริมสร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมความร่วมมือในทุกสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ฉบับที่ 3 ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อาโอทีอาโรอา นิวซีแลนด์ ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
- ฉบับที่ 4 ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและรัสเซีย ในวาระครบรอบ 5 ปี ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-รัสเซีย
- ฉบับที่ 5 ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย เพื่อสันติภาพ ความก้าวหน้า และความรุ่งเรืองร่วมกัน (ค.ศ. 2021-2025)
- ฉบับที่ 6 ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2021-2025 ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา
- ฉบับที่ 7 ร่างแนวทางการเร่งการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ที่มีประสิทธิภาพและมีเนื้อหาที่ครอบคลุมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เช่น กำหนดระยะเวลาการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้เสร็จภายใน 3 ปี จัดประชุมเป็นประจำ 4 ครั้งต่อปี เป็นต้น
- ฉบับที่ 8 ร่างแผนการดำเนินงานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) เพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญ ว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ. 2024-2028 โดยดำเนินการผ่านกลไกที่มีอยู่ของอาเซียน ซึ่งจะต่อยอดการดำเนินความร่วมมือในสาขาต่างๆ
- ฉบับที่ 9 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของการประชุม ARF เป็นร่างเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินการตามมาตรการและข้อริเริ่มที่ได้ตกลงกันไว้ โดยพิจารณาถึงบทบาท ความสำเร็จ และความท้ายทายของการประชุม ARF ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
- ฉบับที่ 10 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ครั้งที่ 30 ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลในรูปแบบใหม่
- ฉบับที่ 11 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการลดความเสี่ยงทางนิวเคลียร์ ผ่านความร่วมมือและมาตรการที่ทำได้จริง
- ฉบับที่ 12 ร่างแผนงานการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ค.ศ. 2023-2025 โดยมีกรอบดำเนินงานในประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1. ยาเสพติด 2. สารเคมี ชีวภาพ วัตถุกัมมันตรังสีและนิวเคลียร์ 3. การป้องกันและการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง และ 4. การค้ามนุษย์
ส่วนร่างเอกสารที่จะลงนามอีก 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 13-15 เป็นร่างหนังสือที่ รมว.ต่างประเทศ ของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนาม เพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของสหรัฐเม็กชิโก สาธารณรัฐปานามา และราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
น.ส.รัชดา กล่าวว่า เอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามทั้ง 15 ฉบับ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งไม่เป็นการกระทำที่มีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เนื่องจากเป็นร่างเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาในการส่งเสริมความร่วมมือ และต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว