กรมชลฯ สั่งเตรียมพร้อมเร่งเก็บกักน้ำรับปีหน้าฝนน้อยจากผลกระทบเอลนีโญ

ข่าวทั่วไป Friday July 14, 2023 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.66 จะมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาศสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าทั้งในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำล้นตลิ่งได้ แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญก็ตาม

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาถึงสถานการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ และยาวนานไปจนถึงต้นปีหน้า กรมชลประทานจึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทาน โครงการก่อสร้าง รวมไปถึงสำนักเครื่องจักรกล โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ โดยใช้ระบบชลประทานในการรับน้ำและระบายน้ำให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบและเต็มศักยภาพ

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 38,363 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน และสามารถรับน้ำเพิ่มได้อีก 37,974 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,077 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำเพิ่มได้รวมกันอีกประมาณ 14,794 ล้าน ลบ.ม.

พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการในการเตรียมพร้อมความรับมือสถานการณ์น้ำตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมฯ อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำรวมทั้งขุดลอกคลองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสามารถเข้าช่วยพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ