นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาจราจรเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ ใช้ข้อมูลช่วยในการบริหารจัดการรวมถึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการควบคุมสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลาด้วย โดยจะเริ่มจากจุดสำคัญ 3 เส้นทางนำร่อง ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่มีปัญหาจราจรติดขัด ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก (อยู่ในความรับผิดชอบของกทม.) ถนนประเสริฐมนูกิจ (อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง) ถนนราชพฤกษ์ (อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท)
โดยการปรับสัญญาณไฟจราจรให้ฉลาดขึ้น วิธีการคือปรับสัญญาณไฟจราจรให้มีข้อมูลจากปริมาณจราจรที่แท้จริง วิเคราะห์ปริมาณจราจรจากกล้องที่มีอยู่แล้ว สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงทำระบบ AI ขึ้นมาเพื่อดูปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลา วิเคราะห์จุดติดจุดฝืดในช่วงเวลาต่างๆ และหาวิธีการแก้ไข เช่น การปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร ซึ่ง 3 เส้นทางดังกล่าว จะนำร่องด้วยวิธีการนี้ และจะเริ่มดำเนินการทำทันที
ทั้งนี้กล้องในกทม. 60,000 ตัว ที่มีอยู่ขณะนี้ ใช้ดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ที่ใช้ในด้านจราจรมีเพียง 1,000 กว่าตัว รวมถึงคุณภาพกล้องและมุมกล้องอาจไม่สอดคล้องที่จะนำมาใช้ร่วมกับโครงการนี้ ต้องมีการปรับปรุงและติดตั้งกล้องเพิ่มบางเส้นทาง คือ ถนนรัชดาภิเษก เนื่องจากมีหลายทางแยก ปริมาณกล้องยังไม่ครอบคลุม
การเปิดสัญญาณไฟจราจรเดิมที มีการวิเคราะห์ปริมาณจราจรจริง แต่เป็นการกำหนดเป็นช่วงๆ ลักษณะต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ช่วงเช้า กลางวัน เย็น หรือเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปริมาณจราจรที่แท้จริง โดยการดำเนินการโครงการนี้จะทำครอบคลุม 127 จุด ผลการศึกษาคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่ง 127 จุดดังกล่าวเป็นจุดที่ปรับได้ไม่ยาก เป็นการแก้ปัญหาใช้ระยะเวลาสั้น และใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด โดยกทม. ตั้งเป้าเรื่องการจราจรต้องดีขึ้นภายใน 1 ปี
นอกจากการปรับสัญญาณไฟจราจรแล้ว ยังมีข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น การปรับกายภาพ การปรับคอขวด ปรับจุดกลับรถ ปรับป้ายรถเมล์ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มีการวิเคราะห์ที่ผ่านมาทำให้เห็นภาพปัญหาแต่ละจุด กทม. จะนำข้อมูลที่ทางสนข. ศึกษามาไปดำเนินการต่อ เพื่อให้เป็นการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ