น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ สืบเนื่องมาจากที่ปัจจุบันได้ปรากฎกรณีการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์โดยต่อเนื่อง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทั้ง 2 หน่วยงาน เห็นพ้องกันว่า การบริหารบุคลากรภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป มีความท้ายทายในหลายประเด็น จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรม
โดยตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 เป็นต้นมา สธ. และสำนักงาน ก.พ. ได้หารือร่วมกันมา 3 ครั้ง มีประเด็นสำคัญที่เห็นร่วมกันว่า ต้องได้รับการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนอัตรากำลัง การพัฒนาความก้าวหน้าในสายงาน การเพิ่มอัตราการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน การปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน และการปรับปรุงสวัสดิการให้แก่บุคลากร การปรับปรุงการบริหารทรัพยากรบุคคลของสาธารณสุขจำเป็นต้องดำเนินการในภาพรวม ทั้งประเด็นหลัก และประเด็นย่อย
ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีความหลากหลายในสายงาน มีบุคลากรจำนวนมาก และกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ปัญหาจึงอาจเกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งในมิติบริหารจัดการ มิติของผู้รับบริการ และมิติของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน จึงเห็นควรตั้งคณะทำงานร่วมของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการกำหนดกรอบประเด็นปัญหาภาพรวม และประเด็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน (Priority Issues) เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์ เหมาะสม และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นร่วมกันนั้น กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะเร่งด่วน เช่น การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ พิจารณากำหนดตำแหน่งวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ในราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยอาจดำเนินการนำร่องกับสายงานพยาบาลวิชาชีพ ในกระทรวงสาธารณสุขก่อน แล้วขยายผลต่อไปยังสายงานอื่นๆ และส่วนราชการอื่นต่อไป
2. ระยะยาว เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตนักศึกษาในสายงานบุคลากรทางการแพทย์ การปรับปรุงพัฒนาระบบสวัสดิการและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์