นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย มีการพัฒนาออกแบบโดยฝีมือคนไทย จะขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นเวลา 3 ปี ขณะนี้ได้ประกอบและทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว โดยคาดว่าจะถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงเดือนกันยายน 2566 ณ ฐานปล่อยจรวดของเฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้ และดาวเทียมเล็ก THEOS-2A มีกำหนดการที่จะนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ณ ฐานปล่อยจรวดภายในศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย ทั้งนี้ กำหนดการสามารถเลื่อนได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานะโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดิน และระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมเพื่อการพัฒนา THEOS-2 ประกอบและทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ Airbus Test Facility เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส โดยคาดว่าจะปล่อยสู่วงโคจรได้ปลายเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2566 ณ ฐานปล่อยจรวดในเมืองเฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้ และดาวเทียมเล็ก THEOS-2A ประกอบและทดสอบแล้วเสร็จ เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ อาคารประกอบและทดสอบแห่งชาติ AIT อุทยานรังสรรค์นวัตกรรม (SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี คาดว่าจะนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ณ ฐานปล่อยจรวดภายในศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยดำเนินการเตรียมความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศหลายส่วนและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกิจการด้านอวกาศของประเทศ อาทิ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมและการพัฒนาระบบปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน ระบบคลังข้อมูลจากดาวเทียมที่พร้อมใช้ ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสากล รวมถึงศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม
รวมทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการเติบโตของกิจการด้านอวกาศ ภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งหลังจากที่วิศวกรดาวเทียมของไทยจำนวน 22 คน ได้ไปฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้น ณ สหราชอาณาจักร และกลับมาต่อยอดให้กับบุคลากรในประเทศ จะมีการดำเนินการต่อในเรื่องการสร้างวิศวกรใหม่ โดยการรับวิศวกรรุ่นใหม่ หรือที่มีความสนใจในการสร้างดาวเทียมมาร่วมทีมพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป และในอนาคตอันใกล้เรากำลังจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่โดยฝีมือคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ในนาม "THEOS-3"
"พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อขับเคลื่อนไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น และมีแนวคิดที่ต้องการให้ไทยพัฒนาส่วนของเทคโนโลยีอนาคตเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็เพื่อการแข่งขันในโลกสมัยใหม่ เท่าทันวิวัฒนาการ และเพื่อความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม นำพาประเทศและประชาชนให้คุ้นชินกับอุตสาหกรรมอนาคต พัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน" นางสาวรัชดาฯ กล่าว