กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จับกุมกวาดล้างร้านขายยาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วกรุงเทพฯ จับกุมผู้ต้องหาที่ไม่ใช่เภสัชกร 13 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 156 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,400,000 บาท หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และได้รับการประสานงานจาก อย.ให้ตรวจสอบร้านขายยา
โดยในช่วงวันที่ 24 ก.ค.-9 ส.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ร่วมกับ อย. เข้าตรวจสอบเครือข่ายร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมายรายใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 14 จุด ตรวจยึดยาปลอม 572 ชิ้น, ยาไม่มีทะเบียน จำนวน 212 ชิ้น, ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 24,722 ขวด, ยาเขียวเหลือง (ทรามาดอล) 4,150 แคปซูล และยาควบคุมพิเศษ จำนวน 21 กล่อง
ทั้งนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งไม่ใช่เภสัชกร และไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรม รวมทั้งสิ้น 13 ราย ดำเนินคดีข้อหา "ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต" โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับว่า รับจ้างเป็นพนักงานขายยาภายในร้านขายยา ซึ่งอยู่ประจำร้านทุกวัน และจะมีเภสัชกรเข้ามาดูแลร้านเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000-18,000 บาท
โดยจากการสืบสวนขยายผล พบว่า ร้านขายยาดังกล่าว มีรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะที่เจ้าของผู้ดำเนินกิจการรายเดียว ยื่นขออนุญาตเปิดร้านขายยาหลายแห่ง เพื่อจะได้รับโควตาในการซื้อยาแก้แพ้ ยาแก้ไอในปริมาณมาก ซึ่งเครือข่ายดังกล่าว จะเลือกทำเลอยู่ในแหล่งชุมชน หรืออพาร์ทเม้นท์ ซึ่งมีกลุ่มวัยรุ่นพักอาศัยอยู่มาก ทำให้สะดวกต่อการซื้อ
อย่างไรก็ดี ร้านขายยาในชุมชน มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคและยาได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันบรรดาผู้ประกอบการที่คิดแสวงหากำไรอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย โดยการขายยาบางประเภทผิดจากวัตถุประสงค์ โดยมุ่งเน้นจำหน่ายเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เพื่อนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่ม เพื่อความมึนเมาและเสพติดเป็นจำนวนมาก
กรณีผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินกิจการร้านขายยา (เจ้าของร้านขายยา) ที่ขออนุญาตเปิดร้านขายยาที่มียาปลอม และยาไม่มีทะเบียน โดยมีพฤติการณ์ขายยาแก้แพ้ แก้ไอ และยาเขียวเหลืองให้กับเยาวชน เบื้องต้นมีความผิดฐาน "ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดฯ, ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายยาปลอม" ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะได้เสนอคณะกรรมการยาพักใช้ใบอนุญาตต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ตาม
1. พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ฐาน "เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
- สำหรับผู้รับอนุญาต
2.1 ฐาน "ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ระวางโทษปรับ 2,000-10,000 บาท
2.2 ฐาน "ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่" ระวางโทษปรับ 1,000-5,000 บาท
2.3 ฐาน "ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.4 ในชั้นสอบสวน หากพบว่าเป็นยาปลอมจะมีความผิดฐาน "ขายยาปลอม" ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท
- สำหรับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกร) มีความผิดฐาน "ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ รวมถึงไม่ควบคุมการขายยา ควบคุมการส่งมอบยา อันตราย และควบคุมการทำบัญชีซื้อและขายยาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท
พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว รอง ผบก.ปคบ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบในครั้งนี้ พบยาไม่มีทะเบียน และยาปลอม ซึ่งทางตำรวจเฝ้าระวังและจะขยายผล ถึงต้นตอของยาไม่มีทะเบียน และยาปลอมที่ตรวจพบในร้านขายยาต่อไป
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือร้านขายยาปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และร้านที่ไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการกวาดล้างต่อไป และฝากความห่วงใยมายังประชาชนว่า ยาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ใช้เพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อย่างถูกวิธี และได้รับคำแนะนำในการใช้อย่างละเอียดจากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวังตามใบสั่งของแพทย์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากประชาชนพบเห็นร้านขายยาใด มีพฤติกรรมในการใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
*แนะประชาชนซื้อยาจากร้านที่มีเภสัชกร เตือนเภสัชกรอยู่ประจำร้าน ขายยาให้ถูกต้อง
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบัน อย. มีมาตรการกำกับดูแลการจำหน่ายยากลุ่มเสี่ยงตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต/ นำเข้า การขายให้ร้านขายยา ตลอดจนการจ่ายยาให้ผู้ป่วย กรณีตรวจพบการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วัน หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตด้วย
ตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 78 ร้าน, โรงงานผลิตยาถูกพักใช้ใบอนุญาต 2 แห่ง และบริษัทขายส่งยาถูกเพิกถอนใบอนุญาต 1 แห่ง สำหรับเภสัชกรที่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ หรือไม่ควบคุมการจัดทำบัญชีซื้อและขายยาโดยเฉพาะยาอันตรายกลุ่มเสี่ยง อย. จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาจรรยาบรรณต่อไป
ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า ปัจจุบัน ยังพบว่ามีการจับกุมร้านขายยาที่ลักลอบขายยาแก้ไอ และยาทรามาดอล ให้กับเยาวชนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่นำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อการเสพติด และผู้ขายยาก็ไม่ใช่เป็นผู้มีความรู้เรื่องยาโดยตรง ซึ่งก็จะมีความผิดทั้งใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 คือขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ แม้อาจจะมีเพียงโทษปรับก็ตาม แต่ลักษณะการขายยาดังกล่าว จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ด้วย คือ ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (การขายยา) โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะมีโทษสูง ปรับ 30,000 บาท หรือจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.ปรีชา กล่าวว่า ผู้ที่แอบจ่ายยาโดยไม่ใช่เภสัชกร จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ และกรณีนี้เภสัชกรที่เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านต่างๆ เหล่านี้ หากไม่ได้อยู่ปฏิบัติการตลอดเวลาที่เปิดทำการ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ขายยากลุ่มเสี่ยงดังกล่าวด้วยตัวเอง แต่เภสัชกรในฐานะผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการได้มีการควบคุมกำกับเกี่ยวกับการขายยา การส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือมีการปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมดูแลไม่ให้มีการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่หรือไม่อย่างไร หรืออาจเข้าข่ายการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ถือว่าเป็นความผิดทางจรรยาบรรณได้ โดยมีโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นระยะเวลา 2 ปี ดังนั้น จึงขอให้เภสัชกรที่ไม่ได้อยู่ประจำตลอดเวลาต้องระมัดระวัง และสอดส่องกำกับดูแลให้มีการขายยาให้ถูกต้องตามที่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กำหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ภก.ปรีชา กล่าวต่อว่า เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา แนะนำให้ประชาชน เลือกเข้าร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ อย่าปรึกษาเรื่องยา หรือซื้อยากับ บุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกร โดยเภสัชกรในร้านยาจะใส่ชุดสีขาว มีตรา สภาเภสัชกรรม ประชาชนสามารถ Load Application ร้านยาของฉัน ใน Play store หรือ App store เพื่อดูว่าร้านยาใกล้บ้านฉันอยู่ที่ไหน และร้านยาใดมีเภสัชกร พร้อมให้บริการ ให้เลือกเข้าร้านยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำยา เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน
"ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด" ภก.ปรีชา กล่าว