นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เข้าพบนาง Ana Carolina Miranda Lamy ทูตเกษตรบราซิล และ Mr. Helio Caldas ที่ปรึกษา เพื่อหาทางออกไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากบราซิล ทำให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศอย่างหนักในปัจจุบัน โดยสมาคมฯ พร้อมเดินหน้ากับสถานทูตประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ที่แสดงแหล่งกำเนิดชัดเจนจากบรรจุภัณฑ์สุกรลักลอบ โดยจะประสานความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ด้วย
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากเว็บไซต์ในต่างประเทศปรากฏมีการนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรจากประเทศบราซิลชัดเจนตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2565 บราซิลจึงเป็นประเทศแรก ที่สมาคมฯ ต้องทำงานเชิงรุกด้วยการเข้าพบเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทูตเกษตรประเทศบราซิล
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ได้หารือกับคณะกรรมการที่ร่วมเจรจาว่าจะเดินหน้ากับสถานทูตในประเทศไทยที่เหลือทั้งหมดที่มีชื่อปรากฏเป็นแหล่งกำเนิดของสินค้าสุกรลักลอบนำเข้า และจะประสานตรงไปยัง FAO เพื่อประสานความช่วยเหลือที่ผู้เลี้ยงสุกรเดือดร้อนอย่างหนัก เพื่อเป็นการระงับตั้งแต่ต้นทาง
ส่วนกรณีที่มีการพบสินค้าสุกรต้นกำเนิดจากบราซิล แต่เมื่อถอดรหัส Label เป็นปลายทางประเทศอื่น แต่มีสินค้าเหล่านี้อยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากนั้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จะต้องเดินหน้าสืบค้นหาข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อไป เพื่อแก้ปัญหาตามวิถีทางในกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทั้งหมด
ด้านนางแอนนา คาโรไลนา ทูตเกษตรบราซิล กล่าวว่า ได้ประสานกับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าสุกรในประเทศว่า ประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าเนื้อสุกรอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาไม่มีการส่งออกสินค้าสุกรโดยระบุปลายทางเป็นประเทศไทย แต่กลับแปลกใจ ที่บรรจุภัณฑ์สินค้าสุกรจากบราซิลปรากฏในตลาดเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และจากการจับกุม เมื่อถอดรหัสจาก Label แล้ว ปรากฏว่าเป็นข้อมูลการส่งปลายทางไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฮ่องกง
"ในที่ประชุมได้เปิดข้อมูลจากทูตเกษตรบราซิลทั้งหมด เพราะสถานทูตเองเกาะติดเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด ไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลกระทบต่อเกษตรกรไทย และประเด็นดังกล่าว ทางสถานทูตได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องว่าปล่อยให้เกิดปรากฏการณ์นี้ได้อย่างไร แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ"