น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำเตือนถึงการบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีท โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้แจ้งกฎหมายเรื่องการกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย (Car Seat) และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องมีคาร์ซีท (Car Seat) ส่วนกรณีไม่มีคาร์ซีท จะต้องปฏิบัติตามหลัก 3 ข้อที่กำหนด หากละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายคาร์ซีท เป็นผลสืบเนื่องจากการปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่นั่งในรถ ต้องมีคาร์ซีท ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1. ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถ และที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ และ 2. ที่นั่งพิเศษแบบที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิง (Booster Seat) โดยทั้ง 2 แบบดังกล่าว ต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่รถรับจ้าง รถสาธารณะ ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก
ส่วนกรณีที่ประชาชนไม่มีคาร์ซีท แต่มีเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี นั่งในรถด้วย จะต้องปฏิบัติตามหลัก 3 ข้อที่กำหนด จึงจะถือว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับยกเว้นไม่ต้องมีคาร์ซีท ดังนี้
1. ขับรถด้วยความเร็วช้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับชิดซ้าย
2. ให้เด็กนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง/กรณีรถกระบะ หรือกึ่งกระบะ ให้นั่งโดยสารตอนหน้าได้ แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ
3. จัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสาร หรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
ทั้งนี้ หากละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
"นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เรื่องข้อกฎหมายที่สำคัญ ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้อง ซึ่งกฎหมายคาร์ซีท จะช่วยดูแลความปลอดภัยให้เด็กในท้องถนน ลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงขอให้พี่น้องประชาชนทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และบุตรหลาน" น.ส.รัชดา กล่าว