กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยการปฏิบัติการตรวจค้น เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในคดีพิเศษที่ 59/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 66 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการตรวจค้น บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด ในพื้นที่กรุงเทพฯ จ.นครปฐม และ จ.ลพบุรี ที่นำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง จำนวน 11 แห่ง ได้แก่
1. บริษัท ขวัญชัย เทคโนโลยี แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด 2. บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด 3. หจก.กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช 4. บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด 5. บริษัท อาร์.ที.เอ็น.โอเวอร์ซี จำกัด 6. บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด 7. หจก.สหัสวรรษ ฟูดส์ 8. บริษัท ซี เวิร์ด โฟรเซ่น ฟูด จำกัด 9. บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 10. บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ 10. บริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติกส์ จำกัด โดยผลการตรวจค้น พบพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเป็นอย่างมาก
พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษฯ เปิดเผยความคืบหน้าคดีนำเข้าหมูเถื่อนแช่แข็งว่า หลังจากนี้ อยู่ในขั้นตอนการหาตัวผู้กระทำความผิด และผู้อยู่เบื้องหลัง เนื่องจากพบว่า 11 บริษัทส่วนใหญ่เป็นบริษัทเล็กๆ หรือปิดร้างไปแล้ว ซึ่งจากการสอบสวนขยายผล เชื่อว่ามีผู้บงการหรือมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง
"ที่สำคัญ ต้องการขยายผลไปสู่เจ้าของ หรือขบวนการที่แท้จริง สัปดาห์หน้าจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ข้อมูลมาบางส่วน พบว่าน่าจะมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งต้องใช้การสืบสวนสอบสวนทางการเงิน สืบสวนจากทรัพย์สินไปหาผู้กระทำความผิด เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด" พ.ต.ต.ณฐพล กล่าว
ทั้งนี้ จากการสอบสวนขยายผลยังพบเพิ่มอีก 2 บริษัท หรืออีก 2 สายเรือ ทางภาคใต้นำเข้าหมูเถื่อน (จากเดิมที่พบบริษัทสายเรือที่รับจ้างนำเข้าสินค้า 17 แห่ง) รวมเป็นทั้งหมด 19 สายเรือ ซึ่งในส่วนนี้ อยู่ในขั้นตอนดำเนินการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
"หลังจากนี้จะเชิญอีก 2 สายเรือมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หลังได้ชื่อบริษัทมาแล้ว ตอนนี้อยู่ขั้นตอนที่ตรวจสอบไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าบริษัทดังกล่าวใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง และสถานที่ตั้งบริษัทอยู่ที่ใด" พ.ต.ต.ณฐพล กล่าว
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า จากการประชุมเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องของกลาง ร่วมกับ 3 ฝ่าย คือ DSI กรมปศุสัตว์ และศุลกากร พบว่า ของกลางที่นำเข้ามาทั้งหมด เป็นเนื้อสุกรที่ไม่ได้ผ่านการตรวจโรค ดังนั้น กรมปศุสัตว์ และศุลกากรได้ยึดไว้ทั้งหมด และเข้าข่ายทำลายทั้งหมด โดยคาดว่าจะสามารถทำลายทั้งหมดได้ภายในเดือนก.ย. นี้
"DSI จะขนย้ายของจากท่าเรือถึง จ.สระแก้ว ในช่วงเช้ามืด ใช้เวลาจากท่าเรือไม่เกิน 6 ชม. คร่าวๆ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 4 วัน ปัจจุบันหมูเริ่มเน่าแล้วประมาณ 4 ตู้ ดังนั้น จะมีรถเผาขนาดเล็กของปศุสัตว์ เผาที่ท่าเรือเลย ส่วนที่ยังไม่เน่า ก็จะทำการขนย้ายไปทำลายฝังกลบที่ จ.สระแก้ว โดยจะทำลายตามขั้นตอนของกรมปศุสัตว์ ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่กรมปศุสัตว์ เตรียมพื้นที่ในการฝังกลบ พร้อมเปิดให้สื่อมวลชน และประชาชนเข้าไปดูทุกขั้นตอน ส่วนหลังจากนี้ จะมีการประชุมวางแผนในการขนย้าย และทำลายตามขั้นตอน" พ.ต.ต.ณฐพล กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการหลบซ่อนหมูเถื่อนอีกประมาณ 1,000 ตู้นั้น พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ มีชุดปฏิบัติการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบตู้ทั้งหมด หากพบว่ามีการกระทำความผิดเหมือน 161 ตู้ ก็จะมีการดำเนินคดีต่อไป
ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กล่าวว่า กรมฯ รับคดีหมูเถื่อนเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะราคาหมูสดที่จำหน่ายหน้าฟาร์ม เกษตรกรต้องขายขาดทุนประมาณ 30 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่าคนไทยบริโภคเนื้อสุกร ประมาณ 5 ล้านกิโลกรัม/วัน ดังนั้น เกษตรกรเสียหายประมาณ 150 ล้านบาท/วัน
"ปัจจุบัน DSI ปฏิบัติการอย่างเข้มข้น ส่งผลให้ราคาหมูสดหน้าฟาร์ม กับราคาที่ขาดทุนลดลง ส่วนต่างของต้นทุนกับราคาที่ขายได้อยู่ที่ประมาณ 12 บาท/กิโลกรัม ขาดทุนได้น้อยลง อย่างไรก็ดี ยังต้องการให้ราคากลับสู่ภาวะความเป็นจริง ให้เกษตรกรสามารถขายได้ราคาบ้าง เนื่องจากเกษตรกรขาดทุนสะสมมานานร่วม 2 ปี" ร.ต.อ.ชาญณรงค์ กล่าว
ร.ต.อ.ชาญณรงค์ กล่าวว่า หลังจากนี้ มีแผนที่จะสืบหาเส้นทางการเงิน โดยวันที่ 28 ส.ค. จะเชิญสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาช่วยดูเส้นทางการเงิน เนื่องจากการนำเข้าหมูเถื่อน ต้องใช้เม็ดเงินส่งออกไปต่างประเทศ โดยเบื้องต้นเห็นแล้วว่ามีการโอนเงินจากที่ใด ไปชำระค่าหมูที่ปลายทาง แต่ตัวบุคคลมีทั้งตรงกับรายชื่อที่อยู่ในบริษัท และไม่ตรง หรือเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในบริษัท ซึ่งต้องมีการตรวจสอบในส่วนนี้ต่อไป
"ในส่วนของเส้นทางการเงิน พบบริษัทนำเข้า 10 บริษัทที่กระทำผิด แต่ละบริษัทมีกรรมการที่มีอำนาจประมาณ 2-3 คน ที่เห็นในเบื้องต้นจากยอดโอนเงินก็มีอีก ดังนั้น แต่ละบริษัทน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 5 ราย ทั้งนี้ ถ้าดูจากปริมาณหมู คาดว่าในส่วนของคนในบริษัท น่าจะโอนเงินรวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท/ปี แน่นอน ในครั้งนี้มีทั้งหมด 161 ตู้ มีหมูประมาณ 4.7 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น น่าจะเป็นการทำลายล็อตใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ทำคดีในลักษณะนี้มา" ร.ต.อ.ชาญณรงค์ กล่าว