กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด (38.79%) ถัดมาคือ XBB.1.9.1* (14.66%), XBB.2.3* (16.38%), XBB* (10.34%) และ EG.5.1* พบสัดส่วน 6.90% (ในประเทศไทยพบระหว่างเดือนเม.ย.-ก.ค. จำนวน 8 ราย และในเดือนส.ค. พบเพิ่มจำนวน 7 ราย ปัจจุบัน พบสายพันธุ์ EG.5.1* แล้วจำนวน 15 ราย)
สำหรับสายพันธุ์ HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) มีต้นตระกูลมาจาก EG.5.1 มีการกลายพันธุ์ และในภาพรวมทั่วโลก มีรายงานพบ HK.3 จำนวน 127 ราย จาก 12 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, เดนมาร์ก, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, สเปน, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา และไทย
ในไทยพบทั้งหมด 3 ราย แต่มีเพียง 2 ราย ที่จัดเป็น HK.3 โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 2 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งกรมฯ ได้รายงานฐานข้อมูลกลาง GISAID แล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับความได้เปรียบในการเติบโตของ HK.3 ที่มีความสามารถในการแพร่ได้เร็วกว่า XBB.1.16 ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดของประเทศไทยในปัจจุบันถึง 95% และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นนั้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า การคำนวณเปอร์เซ็นต์อาจมีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากจำนวนข้อมูลมีจำกัด ประกอบกับทั่วโลกมีรายงานตรวจพบ HK.3 เพียง 127 รายเท่านั้น จาก 12 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก และยังไม่มีหลักฐานที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมฯ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการจะเฝ้าระวัง และติดตามอย่างใกล้ชิด
"ต้องรอดู 2 สัปดาห์ถัดไปว่า HK.3 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าแพร่เร็วจริงก็จะต้องมีเยอะขึ้น และเบียดตัวอื่นๆ ไป อย่าเพิ่งไปสรุปว่า 95%" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 26 ถึง 30 (เดือนก.ค. 66) พบ XBB.1.16 และ EG.5 เป็นสายพันธุ์ในกลุ่มสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (VOI) ที่พบมากที่สุด ทั้งสองสายพันธุ์มีสัดส่วน 21.1% โดยมีรายงานพบ XBB.1.16 จาก 101 ประเทศ และพบ EG.5 จาก 50 ประเทศ
สำหรับ EG.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในรอบหนึ่งเดือน ปัจจุบันยังไม่พบมีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม จากความได้เปรียบในการเติบโต และคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า EG.5 จะเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศหรือทั่วโลก ในขณะที่ XBB.1.5 พบรายงานจาก 121 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกตกใจเกินไป สำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ขอให้มั่นใจว่า กรมฯ และหน่วยงานทางการแพทย์ของไทย มีบุคลากร ความรู้ ความสามารถ จะสามารถตรวจพบได้อย่างแน่นอน ซึ่งกรมฯ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต สำหรับการป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุข ยังใช้ได้กับทุกสายพันธุ์
"เมื่อโควิดกลายพันธุ์ไปก็จะหลบภูมิได้มากขึ้น วัคซีนที่เคยฉีดก็จะมีผลลดลงบ้าง แต่วัคซีนก็จะยังช่วยลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ประกอบกับ ในยุคนี้คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ต่อให้กลายพันธุ์หรือแพร่เร็วก็ไม่มีปัญหา สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีน อาจฉีดปีละครั้งเพื่อกระตุ้นภูมิ ส่วนผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หรือมีร่างกายที่แข็งแรง ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดก็ได้ ทั้งนี้ มาตรการอนามัยส่วนบุคคล ทั้งการใส่หน้ากาก และล้างมือ ยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อได้" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีนักวิจัยพบสายพันธุ์ BA.2.86 จากน้ำเสียที่เก็บในกรุงเทพมหานคร ช่วงปลายเดือนก.ค. 66 ที่ผ่านมา ว่า มองว่าอาจจะสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะการที่ไม่ได้ตรวจจากตัวผู้ป่วย เอาจากน้ำซึ่งไม่รู้ว่ามาจากใครบ้าง และมีสารพันธุกรรมบางอย่างที่คล้ายไวรัสตัวนี้ และบอกว่าเป็นไวรัสตัวนี้ น่าจะเป็นข้อสรุปที่ไม่สมเหตุสมผล ยืนยันว่าในไทยยังไม่เจอ BA.2.86 ในผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว อย่างไรก็ดี จะมีการเฝ้าระวังต่อไป