จากกรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมัน ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา เวลา 21.00 น. โดยมีกองทัพเรือ (ภาคที่1) และ ศรชล.ภาค1 พร้อมกำลังพลเพื่อจัดเก็บคราบน้ำมัน
ส่วนในวันที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 23.00 น. อาจจะมีคราบน้ำมันบางส่วน เคลื่อนที่ผ่านเกาะค้างคาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และจะมีคราบน้ำมันบางส่วน ถูกพัดเข้าสู่ชายฝั่งของเกาะค้างคาวเกือบตลอดแนว
ทั้งนี้ กองทัพเรือ จัดส่งกำลังพลหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ไปประจำที่เกาะค้างคาวแล้ว เพื่อดำเนินการจัดเก็บคราบน้ำมัน หากมีการขึ้นฝั่ง โดยจะดำเนินการขั้นตอนและวิธีการเดียวกับกรณีที่มีน้ำมันรั่วใน จ.ระยอง จึงขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวล และขอให้ประชาชนในบริเวณเกาะค้างคาว อ.เกาะสีชัง เฝ้าระวังผลกระทบอาการพิษเฉียบพลันจากไอระเหยน้ำมันดิบรั่วไหล หากมีอาการควรไปพบแพทย์ทันที
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์การรั่วไหลคราบน้ำมันล่าสุด พบคราบน้ำมันที่มีลักษณะเป็นฟิล์มน้ำมันบางๆ กระจายตัวกันเป็นกลุ่มบริเวณทางด้านทิศตะวันออกของเกาะสีชัง แต่ไม่พบกลุ่มน้ำมันที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเข้มหนา
นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงเข้าพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลคราบน้ำมัน รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและตะกอนดินเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน (baseline) ในการเปรียบเทียบในกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลของ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ดำเนินการเฝ้าระวังทั้งหมด 5 จุด ได้แก่ เกาะสีชัง อ่าวอุดม เกาะลอย (บริเวณสวนสุขภาพศรีราชา) หาดบางพระ และหาดวอนนภา
ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี แจ้งประชาชนในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และเขตอำเภอเกาะสีชัง จากเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมัน หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้ไปพบแพทย์ทันที
1. ผู้ที่มีอาการอาหารเป็นพิษจากอาหารทะเล
2. ทางการหายใจ - หายใจติดขัด แสบคอ คอแห้ง แสบจมูก มีน้ำมูกใสไหล มีอาการมึนงง
3. กระเด็นเข้าตา - มีการระคายเคืองแสบตา ตาแดง ตาพร่ามั่ว น้ำตาไหล
4. สัมผัสทางผิวหนัง - มีอาการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดง
5. หากกลืนเข้าไป - มีการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- เผลอสัมผัส โดนผิว/ดวงตา รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
- ห้ามรับประทานปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาที่ชายหาด อาหาร เครื่องดื่มที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน
- เผลอกลืนกิน รีบดื่มน้ำตามในปริมาณมากและไปพบแพทย์
- สังเกตอาการอื่นๆ หากมีอาหารผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที
อาการเฉียบพลัน
- การหายใจ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจเป็นลมหมดสติ
- ผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังมีผื่นแดง แสบร้อน
- กินหรือกลืน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
- ตา อาจทำให้เกิดการระคายเคืองตา ตาพร่ามัว แสบตา ตาแดง
อาการระยะยาว
- ทางเดินหายใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น ไอ เจ็บหน้าอก เจ็บคอ หายใจลำบาก และสมรรถภาพปอดลดลง
- ระบบประสาท มีอาการปวดศีรษะ มึนงง เดินเซ นอนไม่หลับ
ส่วนในประเด็นเรื่องเรื่องอาหารทะเล สามารถรับประทานได้หรือไม่นั้น ทาง สสจ.ชลบุรี ระบุว่า อาหารทะเลที่วางขายอยู่ขณะนี้ ถูกนำขึ้นมาก่อนเหตุการณ์น้ำมันรั่ว จึงสามารถรับประทานได้