ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ จัดเตรียมพร้อมสถานที่ เพื่อฝังกลบทำลายซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้าหรือ "หมูเถื่อน" ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ให้พร้อมใช้เป็นที่ฝังกลบทำลายซากชิ้นส่วนหมูเถื่อน จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 4,363,118 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับไว้เป็นคดีพิเศษเลขที่ 59 / 2566 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 66 และอยู่ระหว่างรวบรวมสำนวนและวัตถุพยานให้ครบถ้วน เพื่อรอการส่งมอบของกลางซากชิ้นส่วนสุกรให้กับกรมปศุสัตว์นำไปทำลาย
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า การป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร เป็นนโยบายหลักเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ ปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ถูกแทรกแซงกลไกลตลาดอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ รายงานว่า สำหรับสถานที่ได้จัดเตรียมไว้ คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ต.คลองไก่เถื่อน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว
ด้าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การดำเนินการขนย้ายหมูเถื่อนจำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ไปทำลาย จะมีคณะทำงานเพื่อดำเนินการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
โดยคณะทำงานจะร่วมกันดำเนินการขนส่งตู้สินค้าโดยรถบรรทุก ซึ่งทุกคันจะต้องผ่านจุดชั่งน้ำหนักศุลกากร ตู้คอนเทนเนอร์มีการติด SEAL ล๊อคทุกตู้เพื่อป้องกันการเปิดตู้ มีการบันทึกน้ำหนักและหมายเลขตู้ พร้อมบันทึกวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน ขณะเดินทางขนย้าย มีรถตำรวจทางหลวงนำขบวน ขนย้ายตู้สินค้าจนถึงสถานที่ฝั่งทำลาย พร้อมส่งมอบหลักฐานและลงนามบันทึกให้กับทีมทำลาย ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมปศุสัตว์จนเสร็จสิ้นภารกิจ โดยคาดว่าจะดำเนินการขนย้ายและฝังกลบทำลายแล้วเสร็จภายใน 5 วัน
สำหรับขั้นตอนการฝังทำลาย จะมีคณะกรรมการทำลายซากสุกร แต่งตั้งโดยกรมปศุสัตว์ ทำหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดตู้สินค้าซากสุกร พร้อมตัด SEAL ก่อนนำซากไปฝังทำลาย หลุมฝังซากมีจำนวน 6 หลุม แต่ละหลุมมีความยาว 150 เมตร ความกว้าง 9 เมตร ความลึก 4 เมตร ปูด้วยพลาสติก PE (หนา 0.3 มิลลิเมตร) ทุกหลุม เพื่อป้องกันของเสียจากซากสัตว์ที่อาจปนเปื้อนสู่ธรรมชาติ
โดยการฝังซากจะใช้วิธีการยกตู้คอนเทนเนอร์เทซากออกจากตู้ โดยใช้เครนยกหัวท้าย ก่อนฝังซากจะโรยด้วยปูนขาวที่ก้นหลุม เมื่อซากเต็มหลุม จะพ่นทับด้วยน้ำยา EM และใช้แบคโฮและแทรกเตอร์ฝังดินกลบหลุม โดยทุกหลุมติดตั้งท่อระบายแก๊สจากซากที่เน่าเปื่อยตามธรรมชาติ โดยวิธีการฝังกลบทำลาย ให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ พร้อมรับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกวาดล้างเนื้อหมูผิดกฎหมายที่แทรกซึมอยู่ในประเทศ และกัดกร่อนสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยในวงกว้าง โดยที่ผ่านมาได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรการเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกร
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และป้องกันเชื้ออหิวาต์แอฟริกาสุกร (ASF) ที่อาจปนเปื้อนมากับชิ้นส่วนสุกร รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งชิ้นส่วนสุกรที่ลักลอบนำเข้า ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์อาจมีสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง หรือเชื้อโรคอื่นที่เป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและผู้บริโภค
สำหรับผลการปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายในการลักลอบนำซากสุกรเข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 จนถึงปีงบประมาณ 2566 ของกรมปศุสัตว์ (ล่าสุดวันที่ 1 ก.ย. 66) ทั้งในส่วนของเนื้อสุกร เครื่องใน และชิ้นส่วน รวม 238 คดี จำนวนรวม 1,142,487 กิโลกรัม มูลค่ารวม 190.42 ล้านบาท มีการทำลายของกลางแล้ว 202 คดี จำนวนรวม 1,049,920 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 175.21 ล้านบาท