ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค.65 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่าบริษัท โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
ศาลปกครองกลางเห็นว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้ทำสัญญาลงวันที่ 9 พ.ย.33 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. มีกำหนดเวลา 30 ปี ซึ่งสัญญามีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญาแล้ว กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เห็นว่าการก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค.41 บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์
โฮปเวลล์ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.41 ซึ่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมายเมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องทำภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุ แห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น แต่ โฮปเวลล์ ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามเวลาที่กำหนดคือภายในวันที่ 30 ม.ค.42 การที่ โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) นำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ในวันที่ 24 พ.ย.47 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาหนึ่งปี
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทนั้น ได้มีการตรา พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.51 โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 51 เดิม และบัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี ซึ่งมีผลใช้บังคับกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้น โฮปเวลล์จะต้องอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.46 แต่โฮปเวลล์ฯ กลับยื่นในวันที่พ้นระยะเวลา 5 ปีไปแล้ว สิทธิเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงขาดอายุความตามกฎหมาย
และการที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นพ้นเวลาไว้พิจารณา และมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.51 จึงเป็นกรณีที่การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
นอกจากนี้กรณีของผู้ร้องทั้งสอง รู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.41 ซึ่งเป็นวันที่มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และครบกำหนด 5 ปีในวันที่ 27 ม.ค.46 การที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 20 ก.ย.48 ขอให้มีคำชี้ขาดและบังคับให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเช่นกัน
ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.51 กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 221 - 223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น