เฝ้าระวัง! พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน 25- 30 ก.ย.

ข่าวทั่วไป Friday September 22, 2023 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เฝ้าระวัง! พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน 25- 30 ก.ย.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้

ทั้งนี้ กอนช.ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 25-30 ก.ย.66 ดังนี้

1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม

1.1 ภาคตะวันออก

  • จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง แกลง ปลวกแดง และเขาชะเมา)
  • จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ท่าใหม่ สอยดาว เขาคิชฌกูฏ แหลมสิงห์ และขลุง)
  • จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ เกาะกูด และเกาะช้าง)

1.2 ภาคใต้

  • จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะ และพะโต๊ะ)
  • จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ ละอุ่น สุขสำราญ และกระบุรี)
  • จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง)
  • จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
  • จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เขาพนม อ่าวลึก คลองท่อม ปลายพระยา และเกาะลันตา)
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี พนม บ้านตาขุน และเกาะพะงัน)
  • จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า และมะนัง)
  • จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน นาโยง กันตัง ห้วยยอด หาดสำราญ รัษฎา และวังวิเศษ)
  • จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน และตะโหมด)
  • จังหวัดสงขลา (อำเภอสะเดา)
  • จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง พิปูน ฉวาง ทุ่งใหญ่ และถ้ำพรรณรา)

2.พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ

  • ริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก
  • แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
  • ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม
  • ลำเซบาย จังหวัดยโสธร
  • แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  • แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
  • แม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง
  • แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

3.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่

  • อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
  • อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี
  • อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน และหนองหาน จังหวัดสกลนคร
  • อ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์
  • อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน

2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ

3.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ พร้อมเร่งระบายน้ำท่วมขังรวมทั้งจัดจราจรทางน้ำเพื่อหน่วงน้ำลดผลกระทบทางด้านท้ายน้ำ และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดสำหรับฤดูแล้งที่กำลังจะถึงนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ