นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากการที่กรมชลประทานแจ้งเตือน 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำริมฝั่งเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครมีการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงาน กปร. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำรวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่นๆในการเฝ้าระวังเพื่อลดผลกระทบ และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งได้จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ซึ่งในกรุงเทพมหานคร มีแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ความยาวประมาณ 88.00 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของกรุงเทพมหานคร ความยาวประมาณ 80.00 กิโลเมตร แนวป้องกันของเอกชนหรือหน่วยงานราชการอื่น ความยาวประมาณ 3.85 กิโลเมตร และแนวป้องกันชั่วคราว (แนวฟันหลอ) ความยาวประมาณ 4.15 กิโลเมตร เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน แนวป้องกันน้ำท่วมของกองทัพเรือ แนวป้องกันน้ำท่วมของธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถานหรือศาลเจ้าท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น
ในส่วนของแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่มีระดับของแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรงหรือแนวฟันหลอ ปัจจุบันกำลังจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทรายเพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรงเพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงโดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ติดตามและเฝ้าระวังในช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดต่างๆโดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ
รวมถึงการตรวจสอบเครื่องสูบน้ำที่ได้ติดตั้งไว้แล้วตามบ่อสูบน้ำต่างๆตามแนวริมแม่น้ำทุกจุดเพื่อให้มีความพร้อมสามารถใช้งานได้ในทันที นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมกระสอบทรายเปล่าที่พร้อมใช้งาน 355000 ใบ และมีแผนการจัดซื้อกระสอบทรายเปล่าในปีนี้ประมาณ 1,200,000 ใบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างคาดว่าจะได้กระสอบทรายเปล่าในเดือนตุลาคมรวมกระสอบทรายเปล่าที่คาดว่าจะใช้งานทั้งหมด 1,555,000 ใบ
สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด บางชุมชนอาจจะได้รับผลกระทบเรือวิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็วอาจจะทำให้เกิดแรงคลื่นกระทบพื้นบ้าน ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่าช่วยตรวจสอบ กำชับและใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับบ้านเรือนของประชาชนดังกล่าวต่อไป
ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.กทม.) แจ้งว่า สปภ.กทม.ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยจัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รวมทั้งยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดหาบหาม และเครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก (ไดโว่) พร้อมให้การสนับสนุนและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขตพื้นที่ สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์มวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบน และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร