"โอเพ่นไทยจีพีที" เป็น Opensource ที่ร่วมกันพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านเอไอของไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างโอกาสแก่นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ Generative AI รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โอเพ่นไทยจีพีที ปัจจุบันได้เปิดตัวไปถึง 3 โมเดล ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดยโมเดลล่าสุด ที่สามารถประมวลผลภาษาไทยได้เร็วกว่า ChatGPT ถึง 10 เท่า ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูล Dictionary ภาษาไทยมากกว่า 25,000 คำตอบโจทย์การสืบค้นข้อมูล แปลภาษา และสร้างข้อมูลอัตโนมัติภาษาไทย จัดการความซับซ้อนของการแบ่งคำ การใช้วรรณยุกต์ไทย โดย โอเพ่นไทยจีพีที ปัจจุบันได้มีนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ดาวน์โหลดโค้ดต้นฉบับได้ฟรี ในการนำโค้ดไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจไปกว่า 3,000 ครั้ง และจากการสนับสนุนทุนวิจัย บพข. ให้พัฒนา LLM ภาษาไทย และปรับปรุงประสิทธิภาพด้วย Reinforcement learning from Human Feedback (RLHF) ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งในการฝึกฝนโมเดล โดยมีการใส่ความคิดเห็นของมนุษย์เข้าไปเหมือน ChatGPT ทำให้โอเพ่นไทยจีพีทีใหม่ ที่มีความฉลาดมากขึ้น ให้สามารถผ่านการสอบโอเน็ตระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีฐานข้อมูลชุดโดยเตรียมเปิดตัวโมเดลใหม่ในต้นปีหน้า
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. เปิดเผยว่า บพข. เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรม และบุคลากรชำนาญการสูงด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สุขภาพการแพทย์ ที่มีศักยภาพในระดับสากล และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 ? 2570 ยุทธศาสตร์ที่ 1 techเพิ่มความสามารถภาครัฐ และภาคเอกชน
ทางด้าน ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. (SAT) ด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กล่าวว่า สกสว. และ บพข. ทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เกิดการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ของประเทศให้ทัดเทียมนานาประเทศ ตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 ? 2570) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอของประเทศเพื่อสร้างความสามารถให้แก่ เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ ด้วยอัลกอริทึมและกลุ่มเครื่องมือทางสถิติ เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ทรงปัญญา ที่สามารถเรียนรู้ เลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้ ในบางกรณีอาจไปถึงขั้นเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน