มท.-กทม.เร่งประสานความร่วมมือเคลียร์ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ข่าวทั่วไป Monday October 2, 2023 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มท.-กทม.เร่งประสานความร่วมมือเคลียร์ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในโอกาสตรวจราชการและมอบนโยบายให้กทม. ว่า เรื่องเร่งด่วนที่กทม. และมหาดไทยต้องทำงานร่วมกัน อาทิ เรื่องรถไฟฟ้า และเรื่องการเสริมสร้างโอกาสให้ประชาชน สามารถจัดจำหน่ายสินค้า OTOP ได้มากขึ้นในเขตกทม. เป็นต้น

เป้าหมายของเราตรงกัน คือประโยชน์สูงสุดของชาวกทม. ซึ่งมหาดไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจระหว่างกันให้เกิดความรวดเร็ว ไร้รอยต่อ และเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนเรื่องนโยบายระยะยาว ตนจะเคารพนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมเป็นผู้สนับสนุน หรือหากมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนจะหารือกับผู้ว่าฯ กทม. เป็นเรื่องๆ ไป

*สายสีเขียว รอสรุปรายละเอียด

นายชัชชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขณะนี้เรื่องรถไฟ อยู่ระหว่างสภากทม. พิจารณารายละเอียดต่างๆ พอสภามีข้อสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะนำข้อสรุปดังกล่าวแจ้งมหาดไทย และหลังจากนั้นน่าจะมีการหารือและเดินหน้าต่อไป ส่วนเรื่องม.44 ส่วนที่ค้างอยู่ คือ คำสั่งให้เดินรถแบบไร้รอยต่อ ซึ่งมีคณะกรรมการดูแล

"หลังจากนี้ต้องดูอีกทีว่าสรุปแล้วเรื่องม.44 จะเป็นอย่างไร เพราะต้องหารือระหว่างกทม. กับมหาดไทยก่อน จากนั้นมหาดไทยก็คงเอาเรื่องเข้าครม. มีขั้นตอนอยู่ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนอะไร" นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องเงินกทม. ไม่มีปัญหา กทม. จ่ายได้ 2 ส่วน ซึ่งสภากทม. ต้องอนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีงบผูกพัน ใช้เงินสะสมที่เหลือจ่ายขาด ดังนั้น ต้องถามสภากทม. ว่ามีความเห็นอย่างไร ทั้งนี้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนในส่วนแรกที่เป็นหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) น่าจะสามารถจ่ายได้ใน 2-3 เดือน

"คิดว่าส่วนแรกน่าจะจ่ายได้ใน 2-3 เดือน คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเงินมี ขึ้นอยู่กับการอนุมัติตามขั้นตอน ทุกอย่างต้องตามกฎหมาย ถ้าไม่ตามกฎหมายก็ไปไม่ได้ ต้องแยกเป็น E&M และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ต้องวิเคราะห์ว่าอันไหนรับได้ รับไม่ได้ ราคาเท่าไรเหมาะสม ซึ่งมีผลการศึกษาอยู่ อย่างไรก็ดี เราทั้งคู่ไม่ได้รับผิดชอบ มาจากคนอื่นก่อนหน้านี้ เรามาก็ต้องดูให้ถูกต้อง เพราะเป็นตัวแทนประชาชน และเงินก็ไม่ใช่เงินส่วนตัว ต้องทำให้ถูกกฎหมาย" นายชัชชาติ กล่าว

ส่วนเรื่องการขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระในส่วนของค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้า นายชัชชาติ กล่าวว่า ครั้งที่แล้วเป็นการขอรัฐบาลที่แล้ว ในส่วนของรัฐบาลนี้ คงจะมีการทำข้อเสนอไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง

สำหรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าที่ตอนนี้ยังฟรีอยู่ นายชัชชาติ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่จะต้องมีการพิจารณา ซึ่งคงไม่ฟรีจนกระทั่งไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็มีนโยบายของรัฐบาลเรื่องการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าด้วย

ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า ประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องที่ต้องหารือในช่วงเวลาต่างๆ เพราะมีหลายขั้นตอน ทั้งนี้ มหาดไทยมีหน้าที่ตอบสนองกทม. ทุกอย่าง ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อย่างไรก็ดี ถ้าทุกอย่างมีความชัดเจน ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นตอนไม่มีข้อติดขัดใดๆ มหาดไทยพร้อมเร่งรัดแก้ปัญหาให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด

"เรื่องที่จะเข้าครม. ต่อให้มหาดไทยเป็นผู้เสนอ ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ต้องมีไปสอบถามความเห็นส่วนราชการ ในกรณีคงต้องถามไปยังกระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ เป็นต้น ทั้งนี้ หาก กทม. เสนอมา ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ก็เป็นไปตามขั้นตอน ขออย่าให้ผิดกฎหมายเท่านั้นเอง ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็ต้องทำหมด ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมีปัญหา" นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ดี วันนี้มีโจทย์ยากอีกหนึ่งโจทย์ คือ เรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลต่างๆ ซึ่งต้องไปเคลียร์ทุกประเด็นให้หมดก่อน เพราะเคยมีปัญหา ถ้าเราทำอะไรในขณะที่มีการร้องเรียน มีการชี้มูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรอิสระ ต้องเคลียร์ให้ขาดก่อน ไม่เช่นนั้นก็ไปไม่ได้

"เชื่อว่าผู้ว่าฯ กทม. ทราบที่มาที่ไปของเรื่องนี้ทั้งหมดแล้ว ถ้าจะเริ่มกระบวนการใหม่ ก็เริ่มให้เคลียร์ เป็นยุคของเรา และก็ทำไป ไม่ใช่ไปรับอะไรจากที่เราไม่เคยเกี่ยวข้องมา แล้วฝืนไปทั้งที่ไม่เข้าใจในปัญหาอย่างถ่องแท้ คงไม่ได้แก้ปัญหาได้ เราจะไปบังคับให้คนแต่ละหน่วยยอมรับส่วนที่ไม่ถูกกฎหมาย ทำไม่ได้" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องการเดินรถตามสัมปทานเดิม ยังไม่เข้าข่าย 5 ปีสุดท้าย ส่วนอีกเรื่อง คือส่วนต่อขยาย ซึ่งต้องแก้ปัญหา อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่มีสิทธิเอาเปรียบผู้ประกอบการ หรือผู้ที่มาช่วยงานให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องดูแต่ละจุด หลังจากนี้ถ้าเรื่องเริ่มเดินได้แล้ว ตนและผู้ว่าฯ กทม. ก็จะหารือกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

*นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นไปได้

ส่วนนโยบาย 20 บาทตลอดสาย มีแนวคิดที่จะเชิญเอกชนร่วมโครงการด้วยหรือไม่นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า เชิญได้แต่ไม่ง่าย เนื่องจากสัมปทานมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือสัมปทานไข่แดง ซึ่งเขาได้สิทธิเพราะเป็นผู้สร้างให้ อีกส่วนคือจ้างเดินรถ หลังจากหมดสัญญาสัมปทานอีก 5 ปี กทม. จ้างเดินรถต่ออีก 13 ปี

"ถ้าจะเอา 20 บาทก็เป็นไปได้ แต่ส่วนต่างที่ไปจ้างเขากับที่เก็บได้ ก็ต้องมีการขาดทุนเกิดขึ้น ตอนนี้ที่คำนวณตอนนี้ที่จ้างเขาในอนาคตล่วงหน้าหลาย 10 ปี เฉลี่ยประมาณ 33 บาท แต่ไม่ได้ว่าคุ้มทุนไม่คุ้มทุน ดังนั้น เราเก็บ 20 บาท ก็อาจต้องมีส่วนที่ต้องชดเชย 13 บาท ยกเว้นสามารถไปต่อรองค่าจ้างให้ถูกลงได้ สรุปคือสัมปทานของ BTS พอหมดช่วงแรก เป็นช่วงที่มีสัญญาอยู่แล้วว่าเอกชนเก็บได้เท่าไร ถ้าจะเอา 20 บาท ไม่เขาลดให้ กทม. ก็ต้องไปจ่ายชดเชยให้ แต่เขาจะลดให้หรือไม่ก็ไม่ง่าย เพราะเป็นบริษัทมหาชน แต่ช่วงต่อจากหมดสัมปทานปี 72 เราเก็บเท่าไรเราได้ เราเก็บ 20 บาทก็ได้ แต่ถ้ามีใครขาดทุนเราก็ต้องจ่ายเขา" นายชัชชาติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ