นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเผยภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง และประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง ว่า ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในห้วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคกลางมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ประกอบกับในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำในบางพื้นที่ ซึ่งมวลน้ำหลากจากตอนบนจะส่งผลให้น้ำท่าบริเวณด้านท้ายน้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น และมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,000-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณ จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 1.00-1.50 เมตร ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาปริมาณมาก โดยปัจจุบันระบายอยู่ที่ 1,280 ลบ.ม./วินาที แต่ยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยช่วงเดียวกันของปี 2565 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,643 ลบ.ม./วินาที หรือน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 1,363 ลบ.ม./วินาที
สำหรับพื้นที่ที่ที่รับผลกระทบขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตรใน 6 อำเภอ ใน จ.ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาแล้ว ขณะเดียวกัน สทนช.ได้ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ว่าน้ำที่เก็บกักจะไว้สำรองไว้ใช้อุปโภค บริโภค ไม่สนับสนุนการทำนาปีต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการเสริมเมนูอาชีพให้เป็นทางเลือกของเกษตรกร
"การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ในครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการสถานการณ์ในการรับมือ ติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝนให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย วางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม พร้อมวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งทุกหน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน การเตรียมเจ้าหน้าที่ ทรัพยากร สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้พร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายฤดูฝนนี้ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ลดผลกระทบและพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที" นายสุรสีห์ กล่าว