นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุที่ห้างสรรพสินค้าพารากอนว่า มีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ เรื่องแรกการเผชิญเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุให้ผู้อำนวยการเขตในพื้นที่เกิดเหตุเป็นอำนวยการเหตุ ถึงแม้จะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตต้องรู้เรื่องและรายงานให้ผู้บริหารรับทราบ
สำหรับเรื่องที่สอง คือ ระบบการเตือนภัย โดยมีสิ่งที่จะทำเบื้องต้น คือ
1. LINE ALERT ได้ให้ที่ปรึกษาฯ ไปดูว่าจะเพิ่มฟีเจอร์อะไรได้บ้าง ปัจจุบันมีเพียงการเตือนเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งทำได้ค่อนข้างดี อาจจะเพิ่มเรื่องน้ำท่วมหรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่
2. Traffy Fondue จะให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันภายใน 7 วัน ให้สามารถแจ้งไปยังผู้ที่สนใจรับแจ้งเหตุได้
3. การตั้งระบบเตือน มี 2 ส่วน คือ ส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งการแจ้งเหตุมีเรื่องละเอียดอ่อนทั้งเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งมีผลต่อการควบคุมเหตุ ต้องมีการหารือให้ดี
ส่วนเรื่องที่สาม คือการดูแลต้นเหตุของปัญหา ปัจจุบันมีประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างมาก กทม. มีแผนที่จะต้องปรับ 2 ส่วน คือ การให้บริการด้านสุขภาพจิต ซึ่งกทม. มีกำลังด้านนี้ค่อนข้างจำกัดและน้อย ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยไม่ค่อยอยากเข้ามาอยู่โรงพยาบาล การให้คำแนะนำและความรู้ต่างๆ ต้องกระจายไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขมากขึ้น รวมทั้งในส่วนของโรงเรียนด้วย
"เราต้องเข้าใจความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ก่อนจึงจะแก้ปัญหาได้ถูก การเอาประชาสังคมมาร่วม ใช้สิ่งที่คุ้นเคย หรือการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในการลดความเครียด ต้องเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องแจ้งเหตุเวลาเกิดเหตุแล้ว ก็จะต้องร่วมมือแก้ปัญหานี้และทำเป็นแผนระยะยาวต่อไป สังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง อีกทั้งความคาดหวังจากพ่อแม่ สภาพเศรษฐกิจ และเรื่องต่างๆ การหาคำแนะนำที่ถูกต้องปัจจุบันไม่ได้หากันได้ง่ายๆ จิตแพทย์ของกทม. สังกัดสำนักการแพทย์มีอยู่ 23 คน สำนักอนามัย 1 คน แผนระยะยาวอาจต้องปรับให้มีความเหมาะสม รวมถึงนักจิตวิทยาหรือคนที่เข้าใจเรื่องนี้ให้คำแนะนำในโรงเรียนและกลุ่มประชาสังคมต่างๆ" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เรื่องระบบแจ้งเตือนภัย เบื้องต้นทราบว่าปภ. มีงบประมาณในการจัดทำเรื่อง เซลล์ บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) (ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติ) ซึ่งจุดประสงค์หลักน่าจะเป็นเรื่องของสาธารณภัยที่เป็นเชิงธรรมชาติ คือภัยพิบัติ หากเป็นเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ต้องประสานให้หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ หน่วยงานที่ดูแลหรือเจ้าของพื้นที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในโปรโตคอลนี้ด้วย ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม
ส่วน กสทช. ได้มีการคุยกันก่อนหน้าตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีและทางภาคเหนือของไทยว่า อยากดึงข้อมูลบางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ แจ้งในกลุ่มเครือข่าย รวมถึง LINE ALERT และ LINE OA ของกทม. ลิงก์แบบทูเวย์ได้ กรณีเกิดเหตุต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็แจ้งไป หากเกิดเหตุนอกพื้นที่ก็ดึงข้อมูลแจ้งกลับมาในส่วนของกทม. ซึ่งจะมีการหารือภายในสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาสำนักการศึกษา กทม. ได้มีการใช้แอปพลิเคชัน BuddyThai ในโรงเรียนสังกัดกทม. พบว่า เมื่อเป็นสิ่งที่ส่งจากครู ความเชื่อมั่นเชื่อใจจากครูจะน้อย ส่วนใหญ่เด็กจะเชื่อเพื่อนมากกว่า ดังนั้น จะต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายในการดูแลเรื่องนี้ ซึ่งในวันที่ 8 ต.ค. นี้ จะมี Forum ใหญ่เรื่องสุขภาพจิต มีเครือข่ายหลายภาคส่วนที่ร่วมงาน คงจะมีการหารือแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน กทม. มีแซนด์บ็อกซ์ 58 โรงเรียน ได้มีการปรับรูปแบบการประเมินการเรียนไม่ให้รู้สึกว่าเป็นการแข่งขัน โดยดูจากทักษะความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีชัยชนะเป็นของตัวเองไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร