นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ East Hall มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีจีน ยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมายาวนาน พร้อมเน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ไทย-จีน ที่ใกล้ชิด การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และมุ่งสู่วาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2568 โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญประธานาธิบดีจีน เดินทางไปเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสที่สะดวก
สำหรับการหารือระหว่างไทย-จีน ในประเด็นสำคัญต่างๆ ร่วมกัน มีดังนี้
- ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายมองว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ จึงยินดีร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการตอบสนองต่อความท้าทาย
รวมถึงเห็นพ้องการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ทั้งนี้ ไทยยังเห็นความสำคัญของนักลงทุนจีน ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับแรกของไทย
- ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรี มองว่า การท่องเที่ยวเป็นนโยบายที่จะสามารถดำเนินการและเกิดผลประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว (Quick win) ไทยจึงออกนโยบาย Visa Free ชั่วคราวสำหรับชาวจีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองประเทศได้มากขึ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ จากเหตุกราดยิงภายในศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้เยียวยาผู้เสียหายอย่างเต็มที่ และดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิด และให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาการตกลงเรื่องการยกเว้นตรวจลงตราระหว่างกัน
- ความร่วมมือด้านความมั่นคง จีนยืนยันความร่วมมือกับไทยในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งผลต่อการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหา Call Center การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด
ส่วนความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไทยและจีนได้หารือร่วมกันถึงแนวทางสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) อาเซียน-จีน และสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคและโลก