แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนและจะเข้าฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้ฝุ่นละอองสะสมและเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษ ทางอากาศ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ตรวจวัดได้ 24.6 - 55.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) สำหรับภาคอื่นๆ ภาพรวมยังไม่เกิน ค่ามาตรฐาน และจากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จะอยู่ในระดับสีส้มอีก 1-2 วัน เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง จากข้อมูลเฝ้าระวังการรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 เชิงรุกผ่านทางเว็บไซต์ 4Health ในต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝุ่น ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2566 พบว่า ร้อยละ 77 ประชาชนมีอาการ ที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส PM2.5 โดยอาการที่พบมากสุด คือ ระบบทางเดินหายใจร้อยละ 35 รองลงมาระบบตาร้อยละ 32 รองลงมา คือ ระบบหู คอ จมูก ร้อยละ 19 ระบบผิวหนังร้อยละ 9 และระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 5 ตามลำดับ และยังพบว่า เดือนมกราคมและเมษายน 2566 ที่ประชาชนมีอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 มากที่สุด" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 50 มคก./ลบ.ม. เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. รวมถึงปรับระดับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือน รวมถึงการดูแลสุขภาพประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำแนะนำในการปฏิบัติตน ในแต่ละระดับสีของฝุ่น PM2.5 ดังนี้
1) สีฟ้า ระดับดีมาก (0 - 15 มคก./ลบ.ม) ประชาชนทุกคนสามารถ ทำกิจกรรมได้ตามปกติ
2) สีเขียว ระดับดี (15.1 - 25 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรม ได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง
3) สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1 - 37.5 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง กลุ่มเสี่ยงควรลดระยเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง และผู้มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
4) สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไป ควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
5) สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทุกคน งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ในห้องปลอดฝุ่น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์