นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภค ซึ่งในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องทุกข์ 2,250 เรื่อง ทาง สคบ. ได้มีการแก้ไขปัญหาแล้ว 1,002 เรื่อง สำหรับผู้บริโภค 1,063 ราย เป็นเงิน 19,551,023.34 บาท โดยที่ประชุมมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวน 6 เรื่อง เป็นเงินจำนวน 1,246,192.28 บาท ดำเนินคดีด้านสินค้าและบริการทั่วไปจำนวน 16 เรื่อง แบ่งเป็น ด้านสัญญาจำนวน 6 เรื่อง เป็นเงิน 19,180 บาท ด้านสลาก 10 เรื่อง เป็นเงิน 553,593 บาท รวมการดำเนินคดีคิดเป็นเงินจำนวน 1,818,965.28 บาท
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นครั้งแรกหลังจากได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่า สคบ.เป็นหน่วยงานที่มีภาระงานเยอะมาก มีเรื่องร้องทุกข์เข้ามาทุกวัน แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีน้อย ไม่สอดคล้องกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ จึงอาจถูกมองว่าการทำงานไม่ทันต่อการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ขณะที่มีจำนวนผู้บริโภคร้องทุกข์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน จึงแนะนำให้มีการนำเอาระบบ IT มาประยุกต์ควบคู่กับการทำงาน ตอบสนองการช่วยเหลือผู้บริโภครวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ โดยอาจดูแนวทางการจัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันควรมีการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและการทำงานของ สคบ.โดยใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ และมีมาตรการในการป้องกันการเกิด Fake News ที่สร้างความเข้าใจผิด โดยต้องมีการแก้ข่าวตอบโต้ได้ฉับไว อาศัยเครือข่ายสื่อภาครัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค
"เราพบข้อร้องเรียนมากในการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ พบว่าสินค้าไม่ตรงปก กว่าจะได้เงินคืนช้ามาก หรืออาจไม่ได้เลย สคบ. อาจต้องมีการทบทวนกฎหมาย ข้อบังคับที่สามารถเรียกคืนเงินได้ง่าย ว่องไว และครอบคลุม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค" นางพวงเพ็ชร กล่าว