นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานประชุมสามัญประจำปีของคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM?s Annual General Meeting) ภายใต้หัวข้อ "Thailand?s Trajectory : The Future is Bright" โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงรุกของไทยกับมิตรระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการในการผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับนานาประเทศไปแล้วบางส่วน ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly: UNGA) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย และยังเป็นอันดับ 3 ในด้านการลงทุน ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเพิ่มตัวเลขเหล่านี้ให้มากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป พร้อมเน้นย้ำว่า ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และขณะนี้ถึงเวลาลงทุนในไทยแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับโอกาสที่ประเทศไทยจะให้แก่นักธุรกิจสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลยึด 3 ประเด็นสำคัญ ที่ทำให้ไทยร่วมมือกับธุรกิจของสหรัฐฯ ดังนี้
ประเด็นแรก ความยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานในทุกภาคส่วน ผ่านการริเริ่มโครงการเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งไทยมีความพยายามอย่างแน่วแน่ที่บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งไทยพร้อมรองรับการลงทุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของสหรัฐฯ ในด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงาน รวมไปถึงเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
พร้อมกล่าวเชิญชวนกลุ่มธุรกิจ ให้ร่วมเป็นหุ้นส่วนที่ทันสมัยของประเทศไทย ซึ่งจะสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ การเกษตรขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) ขณะเดียวกันในด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน รัฐบาลยังมีแนวทางที่จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (SLBs) เพิ่มขึ้น และยินดีต้อนรับนักลงทุนในสหรัฐฯ ให้เป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) และต่อความมุ่งมั่นต่อสภาพภูมิอากาศ
ประเด็นที่สอง การสร้างการทำงานร่วมกันกับพันธมิตร รัฐบาลจะดำเนินการทูตเชิงรุกและเชื่อมโยงพันธมิตร ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค รัฐบาลวางแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ล่าสุด สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ออกแบบการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) สะพานเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง (ฝั่งทะเลอันดามัน) กับ จ.ชุมพร (ฝั่งอ่าวไทย) ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ภายใต้แนวคิด "หนึ่งท่าเรือ สองฝั่ง" (one port, two sides) ที่จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา เพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทย โดยขอเชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งหวังที่จะเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ๆ เพื่อขยายตลาดส่งออกของไทย รวมทั้งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และพันธมิตร IPEF อื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน
ประเด็นที่สาม การเติบโตผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทยมีระบบนิเวศดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และได้รับแรงผลักดันจากจำนวนประชากรที่เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น กลยุทธ์เศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นอนาคต และมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบนิเวศนี้ให้เข้มแข็ง ด้วยการใช้นโยบายและมาตรการเชิงนวัตกรรมหลายประการ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (AELW) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะช่วยพัฒนาวิสัยทัศน์ดังกล่าว
"ประเทศไทย มีความก้าวหน้ามากในด้านธุรกิจ และเทคโนโลยีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีชื่อเสียงในด้านภาคการผลิต ที่มีความยืดหยุ่น มีโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพ E-Commerce เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต และแรงงานที่มีทักษะ โดยหวังว่าจะได้ร่วมงานเพิ่มเติมกับสมาชิก AMCHAM และธุรกิจอื่น ๆ ในสหรัฐฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศดิจิทัล ทั้งในแง่ของการลงทุน และการพัฒนาทักษะบุคลากร" นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า "ขณะนี้ถึงเวลาที่จะลงทุนในไทยแล้ว" ซึ่งประเทศไทยเปิดกว้าง และพร้อมเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ สามารถเป็นห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย และยืดหยุ่น เป็นประเทศไทยที่ยั่งยืน ผสานความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ร่วมกัน
ภายหลังการกล่าวปาฐกถา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง โดยยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยเปิดแล้ว และเป็นเวลาเหมาะสมที่สุดที่นักลงทุนจากสหรัฐฯ จะเข้ามาลงทุน โดยไทยได้เตรียมพร้อมการให้สิทธิพิเศษทางภาษี รวมไปถึงการสนับสนุนด้านพลังงานสะอาด Lifestyle ที่ดี ระบบรักษาสุขภาพ ส่วนการหารือกับนักธุรกิจสหรัฐฯ นั้น ไม่มีใครวิพากวิจารณ์ประเทศไทยในเชิงลบ และยังมีบางบริษัทที่ต้องการเข้ามาตั้งโรงงาน R&D เพิ่มเติมในไทยด้วย
ส่วนเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประเทศไทยเป็นเบอร์หนึ่งในการผลิตรถ EV และมีการใช้รถ EV ในอัตราเติบโตสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี อีกทั้งไทยยังมีมาตรการสนับสนุนการผลิตรถ EV อย่างต่อเนื่อง
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนนี้ว่า ขณะนี้อาจยังพูดได้ลำบาก เพราะมีปัญหาเรื่องสงครามอิสราเอล แต่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าสงครามจะขยายวงหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการขยายวง ก็น่าจะทำให้การท่องเที่ยวของไทยไม่ได้รับผลกระทบ และเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะขยายตัวได้ดี เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นแล้ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี