กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยขณะนี้ยังพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 24 ราย และมีรายงานผู้ป่วยเอชไอวีติดฝีดาษลิงเสียชีวิต 1 ราย เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหรือผู้มีอาการสงสัยฝีดาษลิง หากมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวี
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ต.ค. 66) พบผู้ติดเชื้อรวม 559 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ชาวไทย 503 ราย ชาวต่างชาติ 52 ราย ไม่ระบุสัญชาติ 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ 474 ราย และรู้ว่าติดเชื้อ HIV 274 ราย คิดเป็น 44.18% กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี (241 ราย) ตามด้วยอายุ 20-29 ปี (172 ราย)
โดยในสัปดาห์นี้ พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 24 ราย กรุงเทพ 9 ราย เชียงใหม่ และนนทบุรี จังหวัดละ 3 ราย ภูเก็ต 2 ราย นครปฐม ชลบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี สระบุรี อุดรธานีและอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย
ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยเอชไอวีติดฝีดาษลิงเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและขาดยามา 3 ปี ระดับเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 3 เซลล์ต่อมิลลิลิตร เริ่มป่วยตั้งแต่ 25 ส.ค. 66 และไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นใบหน้า หลัง มือ บริเวณอวัยวะเพศ
ต่อมาวันที่ 12 ก.ย. 66 ได้รับการส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศบำราศนราดูร เนื่องจากมีอาการรุนแรง คือ ผิวหนังตายบริเวณที่จมูก แผ่นหลัง และนิ้วมือ และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ในสภาพที่ผู้ป่วย HIV รายนี้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องพบการแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษลิงไปที่ปอดทำให้เกิดปอดอักเสบ มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดจากเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus: CMV) แม้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา tecovirimat นาน 28 วัน ร่วมกับยาต้านไวรัส HIV และยารักษาโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ตรวจพบ แต่ยังมีการตายของเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้างขึ้น ต่อมามีภาวะไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตในที่สุด
นพ.ธงชัย กล่าวว่า อาการของโรคฝีดาษลิงที่พบบ่อยได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน สำหรับการรักษานั้น หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีโรคประจำตัวร่วม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะให้ยาต้านไวรัส Tecovirimat (TPOXX) โดยเร็ว ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น แต่มีบางรายยที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงจะเสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขกระจายยาต้านไวรัสดังกล่าว ไปไว้ที่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดที่พบการระบาด
ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิง สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้การติดเชื้อโรคฝีดาษลิง และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันเองและลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น รวมถึงไม่สัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และขอความร่วมมือหน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มเสี่ยงพร้อมทั้งสื่อสารให้ความรู้วิธีการป้องกัน