นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยเปิดเผยว่า การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2506-2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี 64 ในขณะที่มีจำนวนการตาย 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน การลดลงนี้สอดคล้องกับอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate: TFR) ที่ลดต่ำกว่าระดับทดแทน (2.1) มาตั้งแต่ปี 2536 และปี 2565 อยู่ที่ 1.16 โดยเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน มีเพียงจังหวัดยะลาเท่านั้นที่มีค่า TFR เท่ากับ 2.27 ซึ่งสูงกว่าระดับทดแทน
สำหรับสาเหตุสำคัญของการไม่มีลูก มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก มีเพียง 10% เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ
ดังนั้น หากยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีบุตร บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ โดยในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน (อายุ 20-24 ปี) ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน (60-64 ปี) ได้ และช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ภาวะพึ่งพิงต่อวัยทำงานสูงขึ้น มีงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สธ. จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีบุตร ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายเกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า ใน 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626 จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15-64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0-14) จะลดลงจาก 10 ล้านคน ในเหลือเพียง 1 ล้านคน สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรทั้งประเทศ หากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ
ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สธ. ได้มอบหมายให้กรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการใน 2 เรื่องหลักที่ต้องการให้สำเร็จภายใน 100 วันคือ การผลักดันประเด็น ส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ และการมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น ในอายุที่น้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร กรมอนามัย จึงกำหนดจัดอบรมพัฒนาศักยภาพให้บุคลากร 3 กลุ่มหลัก คือ สูตินรีแพทย์ พยาบาลและนักเทคนิคการแพทย์ คาดว่าจะสามารถให้บริการกับประชาชนได้ภายในธ.ค. 66 นี้