นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรอง ที่ได้ผ่านการหารือชาวประมงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ตามที่ได้เคยเรียกร้องมาจนได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 11 เรื่อง ประกอบด้วย
1. เรื่องการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมง สำหรับเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย โดยปรับปรุงระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง หรือก่อนออกไปทำการประมง
2. เรื่องการกำหนดเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะมีการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เป็นผู้กำหนดความเหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยผ่านการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. เรื่องวิธีการบันทึกข้อมูลในสมุดบันทึกการทำประมง (Logbook) จะมีการปรับปรุงวิธีการบันทึกเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและการปฏิบัติ และกรมประมงจะเป็นผู้จัดพิมพ์ Logbook เพื่อแจกจ่ายให้พี่น้องชาวประมงเอง
4. เรื่องการแจ้งเข้า-แจ้งออก ท่าเทียบเรือ ให้เจ้าของเรือเป็นผู้แจ้ง และสามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ โดยจะมีการเพิ่มช่องทางในการแจ้งให้ง่ายขึ้น และขยายระยะเวลาการขอแก้ไขข้อมูลการแจ้งออกเป็น 24 ชั่วโมง
5. เรื่องเกี่ยวกับการตรวจมาตรฐานสุขอนามัยในเรือประมงพาณิชย์ และเรือประมงนอกน่านน้ำ ตามมาตรฐานปีละ 1 ครั้ง และกำหนดระยะเวลาการรับคำขอนัดตรวจ และการออกหนังสือรับรองให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
6. เรื่องการออกประกาศข้อกำหนดการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) จาก 5 ฉบับ ผนวกให้เป็นฉบับเดียว โดยปรับปรุงข้อกำหนดให้เหมาะสม อาทิ ให้มีการส่งสัญญาณทุก 1 ชั่วโมง กรณีเรือที่ไม่พร้อมออกทำการประมง ให้สามารถนำใบอนุญาตประมงพาณิชย์มายื่นขอปิดสัญญาณชั่วคราวต่อ ศูนย์ PIPO ได้ กรณีสัญญาณขาดหาย หากเรืออยู่ห่างจากฝั่งหรือแนวเขตปิดอ่าว 30 ไมล์ทะเล ให้มีระยะเวลาในการแก้ไขได้ 8 ชั่วโมง ฯลฯ เพื่อลดความยุ่งยากและความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย
7. เรื่องการเปรียบเทียบปรับ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ สามารถพิจารณาเจตนาของการกระทำความผิดตามข้อเท็จจริง ความร้ายแรง ตามหลักทั่วไปในกฎหมายอาญา และกำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับให้มีความเหมาะสม
8. เรื่องการขอและการออกใบอนุญาตใช้เรือ ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ได้มีการบูรณาการร่วมกับกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกฎหมายเดิม กำหนดให้มีการขอต่อใบอนุญาตใช้เรือ ต้องมีหนังสือรับรองจากกรมประมง จึงทำให้ประชาชนเกิดภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบกับข้อกำหนดในการออกหนังสือรับรองใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการขอใบอนุญาตใช้เรือ ซึ่งตามกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือเป็นหลัก จึงเป็นงานที่ซ้ำซ้อน และเกินความจำเป็น จึงเห็นควรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือเป็นหลัก โดยกรมเจ้าท่า จะเร่งรัดดำเนินการต่อไป
9. เรื่องการออกหนังสือคนประจำเรือของแรงงานต่างด้าว (Seabook) จะมีการบูรณาการร่วมกันกับกรมจัดหางาน ในการเพิ่มสัญชาติแรงงานต่างด้าวที่จะมาทำงานบนเรือประมงได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะเปิดให้มีการขอ Seabook ได้ทั้งปี นอกจากนี้ แรงงานกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยเกินกว่ากำหนด สามารถไปยื่นขอตรวจอัตลักษณ์กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อนำมาประกอบการขอ Seabook ได้ รวมถึงตัดลดเงื่อนไขที่แรงงานจะต้องตรวจโควิดออกไป
10. เรื่องการวางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมง หรือการกักเรือประมง โดยให้เรือประมงที่ถูกจับกุม หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดี สามารถวางประกันแล้วนำเรือประมง เครื่องมือประมง ไปทำการประมงได้ สำหรับหลักประกันที่ใช้แทน ได้แก่ เงินสด ที่ดิน พันธบัตร หุ้น หรือ บุคคลค้ำประกัน
11. เรื่องการงดจดทะเบียนเรือประมงชั่วคราว จากเดิมที่ได้งดจดทะเบียนเรือ กรมประมงได้หารือร่วมกับกรมเจ้าท่า ให้ออกประกาศการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์ที่ต่อขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนลำเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ไฟไหม้ อับปาง และการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านที่ไม่มีทะเบียนเรือเดิมเพิ่มเติมได้ และการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์ เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำได้ ซึ่งขณะนี้กรมเจ้าท่า อยู่ในระหว่างดำเนินการออกประกาศ
นายบัญชา กล่าวว่า ในการปรับปรุงกฎหมายที่ได้ข้อยุติทั้ง 11 เรื่องนี้ เป็นการช่วยแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวประมง ส่วนในเรื่องอื่นๆ นั้น รมว.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำให้หาแนวทางออกร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน ตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ โดยเฉพาะกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวประมง โดยมีเจตนารมณ์ที่จะมุ่งมั่นพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และประชาชน และการประมงทะเลมีเสถียรภาพ โดยเปลี่ยนมุมมองจากที่กฎหมายเป็นอุปสรรคเปลี่ยนเป็นรัฐสนับสนุน
ทั้งนี้ การดำเนินการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่เป็นการลดประสิทธิภาพในการคงไว้ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน และไม่กระทบกับหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
"ขณะนี้ กรมประมงได้ลงระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์กองกฎหมาย กรมประมง www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/law เพื่อเป็นการเปิดรับฟังการวิเคราะห์ทางกระบวนการตามกฎหมาย เป็นเวลา 15 วัน ต่อจากนั้น จะเร่งดำเนินการเพื่อออกประกาศระเบียบดังกล่าวนำมาใช้โดยเร็วที่สุด" รองอธิบดีกรมประมง กล่าว