ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยจำนวนมาก ทำให้แรงงานไทยต้องเดินทางกลับมายังประเทศเพื่อความปลอดภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยดังกล่าว จึงได้เตรียมการรองรับแรงงาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะผู้มีทักษะด้านการเกษตร
ทั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 5 ฝ่าย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตร จากแรงงานอิสราเอลสู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โดยการพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรกลุ่มนี้ ให้พร้อมเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ร่วมถึงยกระดับภาคการเกษตรด้วยความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญของแรงงาน ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จากอิสราเอล ภายใต้ข้อจำกัดด้านดิน น้ำ สภาพอากาศ
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลา 2 ปี มีเป้าหมายในการพัฒนาแรงงานภาคเกษตร 7,500 คน ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ
1. กิจกรรม "ปั้น" สู่ครูพี่เลี้ยง โดยคัดกรองแรงงานเกษตรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย มีความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากอิสราเอล และมีความสามารถเป็นที่ปรึกษาฟาร์มเกษตรได้ โดยภาครัฐจะเติมเต็มด้านเทคนิคการถ่ายทอดความรู้ และกำหนดหลักสูตรการอบรมเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ภายใต้โครงการต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของครูพี่เลี้ยง เพื่อยกระดับความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรของเกษตรกรไทย
2. กิจกรรม "ป้อน" สู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร โดยการรวบรวมข้อมูลความรู้ ความสามารถ และทักษะของแรงงานไทยจากอิสราเอล ที่ประสงค์จะเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรม ส่งต่อให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรตามความสามารถ และความถนัดต่อไป
ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องเพิ่มเติมทักษะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะ รองรับการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตรต่อไป
3. กิจกรรม "ปู" ทางอาชีพเกษตรกรรมสู่บ้านเกิด ในกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะกลับไปรับจ้างแรงงานในอิสราเอล และประสงค์เข้าสู่อาชีพภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง เพื่อร่วมวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ คนและสินค้า ตลอดห่วงโซ่การผลิต ประกอบการตัดสินใจเลือกกิจกรรมผลิตทางการเกษตร รวมถึงการให้ความรู้ในการจัดทำแผนธุรกิจเกษตรประกอบการขอสินเชื่อในการประกอบอาชีพภาคการเกษตรจากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โดยคาดหวังว่า แรงงานไทยจากอิสราเอลเมื่อเข้าสู่อาชีพภาคการเกษตร จะสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีแม่นยำสูง ที่ได้รับการฝึกทักษะจากอิสราเอล มาประยุกต์ใช้ในการผลิตทางการเกษตร สามารถเป็นต้นแบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะสู่การพัฒนาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ขยายผลเทคโนโลยีและการบริหารจัดการฟาร์มได้ต่อไป
"การลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของหน่วยงานภาคี ในการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอล สู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ และผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน" รมว.เกษตรฯ กล่าว