นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และโฆษก กทม. เปิดเผยว่า หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเริ่มต้นฤดูหนาวปี 2566 แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.66 ทิศทางลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก และกรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย.66 พื้นที่ กทม.มีแนวโน้มที่ปริมาณ PM2.5 จะปรับระดับสูงขึ้น เนื่องจากเพดานอากาศต่ำและความเร็วลมลดลง
ที่ผ่านมา กทม.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหลายภาคส่วน อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก กรมอนามัย กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม.ปี 2567 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน
สำหรับในปีนี้ กทม.ได้ทำ Risk map นำข้อมูลจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิด PM2.5 ลงในแผนที่ทั้งหมด เช่น โรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง อู่พ่นสีรถ เพื่อระบุพิกัดสถานที่ตั้ง รวมถึงเพื่อให้สามารถตรวจสอบผลการดำเนินการ ประกอบกิจการ ทำให้ กทม.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมแหล่งกำเนิดได้อย่างละเอียดแบบ realtime มากขึ้น อีกทั้ง กทม.ได้การปรับปรุงแอปพลิเคชัน AIR BKK ให้สามารถพยากรณ์ได้แม่นยำขึ้น และพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3 วัน เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามสถานการ์สามารถวางแผนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน หรือหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากในบางมิติจะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิด PM2.5 ที่ควบคุมได้ยาก
"มิติที่สำคัญที่สุดตอนนี้เป็นเรื่องการจราจร คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการดูแลการจราจร การปฏิบัติตามกฎจราจร และหารือกรมขนส่งทางบกในการควบคุมรถเก่าที่จะเข้ามาในพื้นที่" นายเอกวรัญญู กล่าว
สำหรับกรณีเผาชีวมวลในพื้นที่ กทม.จะมีเขตหนองจอก มีนบุรี คลองสามวาที่มีการทำเกษตรกรอยู่แล้ว ซึ่งจะดำเนินการเฝ้าระวังโดยดูจากภาพถ่ายดาวเทียมตลอด ถ้ามีจุด Hot Spot เกิดขึ้นจะให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าไปดำเนินการที่ต้นตอ
ในส่วนของการดูแลและป้องกันสุขภาพประชาชน มีการทำห้องเรียนปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 300 เครื่องให้กับศูนย์เด็กเล็ก 1,734 เครื่องให้กับโรงเรียนอนุบาล ปรับรูปแบบการเรียนของโรงเรียน แจกหน้ากากอนามัย และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 50 เขต ซึ่งหากค่าฝุ่นสูงเกิน 75.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะยกระดับการดำเนินการ โดยควบคุมและดูแลการก่อสร้าง/สถานที่ก่อสร้าง ลดค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย และขอความร่วมมือเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน Work From Home ปัจจุบันมีเครือข่ายลงทะเบียนพร้อมร่วม Work From Home หากค่าฝุ่นสูงแล้ว 121 แห่ง และสนใจเข้าร่วม 102 แห่ง รวมจำนวนพนักงาน 47,677 คน