นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวง พม. ได้ประสานทุกหน่วย ทั้งด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย และตำรวจ ติดตามปัญหาขอทานจีนที่อาจเป็นเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติ เพราะขอทานเป็นสิ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คนไหนทำก็ผิดกฎหมายเช่นกัน
นายวราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องสืบสวนเพิ่มเติมว่าเป็นส่วนของการค้ามนุษย์หรือไม่อย่างไร และฝากประชาชนหากพบเห็นการขอทานขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หากพบเห็นว่าเป็นชาวต่างชาติขอทานในพื้นที่ใด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน พม. 1300 หรือศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ พม. ได้เตรียมพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ อาจมีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตา
ส่วนกรณีขอทานชาวจีนเกี่ยวข้องกับนโยบายวีซ่าฟรีจีนหรือไม่ นายวราวุธ ระบุว่า คงไม่เกี่ยวข้องกัน ส่วนกรณีการเข้าเมืองด้วยวีซ่าฟรีนั้น เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ ตม. มีวิจารณญาณพอสมควร หากพบเจอลักษณะหรือบุคคลที่เข้ามาภายในราชอาณาจักรอย่างน่าสงสัย
สำหรับกรณีมีความกังวลถึงการจัดอันดับของเทียร์เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการรวบรวมรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ กับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ และภายในเดือนม.ค. 67 จะส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
โดยในรายงานนี้จะมีอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกเกี่ยวกับการดำเนินคดีและฟ้องร้องทางกฎหมาย ส่วนที่สองเกี่ยวข้องกับการป้องกันและการสร้างความรับรู้ และส่วนที่สามเกี่ยวข้องกับการเยียวยาและการดูแล ซึ่งทั้งสามส่วนจะมีหน่วยงานที่ดูแลต่างกันไป ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และกระทรวง พม.
นายวราวุธ กล่าวย้ำว่า แต่ละปีทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเต็มที่ ตอนนี้ไทยอยู่ในเทียร์ 2 และถือว่าขณะนี้ไทยยังอยู่ในขั้นปานกลาง ที่ผ่านมารัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งรัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลในอดีต ในการทำให้ประเทศไทยอยู่ในเทียร์ 2 และเลื่อนกลับไปอยู่ในเทียร์ 1 โดยเร็ว ซึ่งเรื่องขอทานและการค้ามนุษย์เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลับสู่เทียร์ 1 อีกครั้ง
สำหรับความคืบหน้าแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลนั้น ขณะนี้มีการลงทะเบียนกับกระทรวงพม. ที่เดินทางกลับมาแล้ว 8,400 คน เจ้าหน้าที่ได้มีการให้คำแนะนำ 8,348 คน และช่วยเหลือกลับภูมิลำเนาประมาณ 300 กว่าราย
ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่พม. ได้ลงพื้นที่ 62 จังหวัด ได้ไปติดตามแรงงานที่ได้รับผลกระทบใน 62 จังหวัด เกือบ 1,849 ราย และได้มีการช่วยเหลือไปแล้ว 1,030 คนแล้ว โดยได้ช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ การให้คำปรึกษา การสนับสนุนอาชีพ และยืนยันว่า ได้มีการติดตามและพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกวัน โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต