นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 8 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สำหรับกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ ครั้งแรก (เมื่อเดือนพ.ย. 58 และการประชุมผู้นำฯ ครั้งแรก เมื่อเดือนมี.ค. 59
สาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้
1. ร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 8 รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ชื่นชมพัฒนาการภายใต้กรอบ MLC และยืนยันหลักการและเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกในการรักษาพลวัตความร่วมมือภายใต้กรอบ MLC
รวมถึงเห็นพ้องให้ผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในสาขาต่างๆ ได้แก่ ความมั่นคงรูปแบบใหม่ การค้าการลงทุน ศักยภาพในการผลิต ความเชื่อมโยง พลังงาน ทรัพยากรน้ำ การเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนเร่งส่งเสริมการสอดประสานระหว่างรอบความร่วมมือต่างๆ ในอนุภูมิภาค
2. ร่างแผนดำเนินการ 5 ปี กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (ค.ศ.2023-2027) เป็นการแสดงเจตนารมย์ทางการเมืองร่วมกัน ในการกำหนดหลักการและแนวทางการดำเนินงการรวมกันของกรอบ MLC ในระยะ 5 ปี ข้างหน้าอย่างรอบด้านในสาขาต่างๆ อาทิ การเมืองและความมั่นคง ความเชื่อมโยง ศักยภาพในการผลิต และอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การเงินการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย การเกษตร สาธารณสุข พลังงาน สิ่งแวดล้อม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงกำหนดทิศทางการพัฒนากลไกเชิงสถาบันของกรอบ MLC รวมถึงกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างด้วย
3. ร่างข้อริเริ่มร่วมเรื่องการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม ภายใต้กกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นการแสดงเจตนารมย์ของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ในการลดความยากจนการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ สาธารณสุข ดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อนวัตกรรมและวิสาหกิจใหม่
นางรัดเกล้า กล่าวว่า การรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 3 ฉบับ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างรอบด้าน สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย และตอบโจทย์การพัฒนาในบริบทความท้าท้ายปัจจุบันของอนุภูมิภาคฯ อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และปัญาหาความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ดี ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 3 ฉบับ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใด ที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างเอกสารผลลัพธ์ ทั้ง 3 ฉบับ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560