นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมกันให้บริการพิเศษ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ประกอบด้วย
- ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ - เมืองพัทยา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน - บางพลี และตอนพระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง - ต่างระดับบางขุนเทียน) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 66 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 ม.ค.67 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน
- ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.66 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 ม.ค.67 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน
- ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 66 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 1 ม.ค. 67 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 2 วัน
- เปิดใช้มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 จาก "ปากช่อง - เลี่ยงเมืองนครราชสีมา" เปิดให้บริการ 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ) ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น และมีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด คือ ช่วงปากช่อง - สีคิ้ว กม. ที่ 147 ทั้งทิศทางขาเข้าและขาออก
- เปิดให้ทดลองวิ่งฟรีบนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (บางใหญ่ - กาญจนบุรี) ช่วงด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก - ด่านกาญจนบุรี ระยะทาง 50 กิโลเมตร
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คาดการณ์ว่าในช่วง 7 วันของเทศกาลปีใหม่ 2567 จะมีปริมาณจราจรขาเข้าและออกกรุงเทพฯ บนถนนทางหลวง 5 แนวสายทาง (Corridor) เพื่อไปยังภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยมีการจราจรบนทางหลวงสายหลักและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวม 6.96 ล้านคัน และบนทางพิเศษ รวม 10.68 ล้านคัน ดังนั้น เพื่อบริหารการจราจรให้เกิดความคล่องตัว
กระทรวงคมนาคมจึงมีการรณรงค์ขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางในเส้นทางเข้า - ออกกรุงเทพฯ โดยขอความร่วมมือให้กลุ่มเดินทางใกล้ (ระยะทาง 200 - 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ) เดินทางออกหลังในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 และเดินทางกลับเข้าก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยเลี่ยงการเดินทางช่วงที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการเดินทางสูง สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะขอให้วางแผนการเดินทางโดยสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ รวม 14.1 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 15% จากปีที่ผ่านมา และการเดินทางระหว่างจังหวัดรวม 1.8 ล้านคน-เที่ยว ลดลง 3% จากปีที่ผ่านมา โดยการเดินทางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ และการเดินทางระหว่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นเครื่องบิน รถไฟ และรถโดยสารสาธารณะ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะทางบก ราง น้ำ และอากาศ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีรถโดยสาร ท่าเรือ และท่าอากาศยาน เพื่อให้บริการแก่พี่น้องประชาชนอย่างเพียงพอและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางถนนสายหลักและสายรองที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด อาทิ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้เส้นทางรอง หรือเส้นทางเลี่ยงเพื่อลดปัญหาการติดขัดของจราจร เช่น
เส้นทางที่จะไปภาคอีสาน สามารถใช้ ทล.304 (ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรี) มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (ปากช่อง - สีคิ้ว - ขามทะเลสอ)
เส้นทางที่จะไปภาคเหนือสามารถใช้ ทล.340 (บางบัวทอง - ชัยนาท)
เส้นทางที่จะไปภาคตะวันออกสามารถใช้ ทล.3 (สุขุมวิท) ทล.34 (บางนา - ตราด) เป็นเส้นทางเลี่ยงได้