นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการรับมือและแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า กทม. ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยหัวใจหลักมี 2 เรื่อง คือ 1. การควบคุมไอเสียจากรถยนต์ และ 2. การป้องกันการเผาชีวมวล ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ข้างเคียง
ทั้งนี้ กทม. ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงพลังงานไปแล้ว เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ โดยจะมีนโยบายในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรองของรถเก่า ซึ่งจะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกันกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจให้คนที่ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล หรือยูโร 3 ลงไป มาเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เพราะเป็นสาเหตุสำคัญในการปล่อย PM2.5 ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะประกาศรายละเอียดได้
"จะเชิญชวนประชาชนมาเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และไส้กรอง ภายในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 รวมทั้งจะมีการเปลี่ยนใช้น้ำมันที่สะอาดขึ้น หรือยูโร 5 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อย PM2.5 จากเครื่องยนต์ได้" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
ส่วนการเผาชีวมวลนั้น จะพบว่าไม่ได้เกิดการเผาในพื้นที่กรุงเทพฯ มากนัก แต่การเผามาจากพื้นที่ข้างเคียงด้วย โดยในช่วงบ่ายวันนี้ จะประชุมร่วมกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อการหารือร่วมกันเรื่องการลดการเผาชีวมวลต่าง ๆ ซึ่ง กทม.จะพยายามทำอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากเช่นกัน
สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนนั้น กทม. ได้มีการเพิ่มเติมเครื่องฟอกอากาศในพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล รวมถึงโรงพยาบาล ก็ได้มีการให้คำแนะนำด้านสุขภาพ การเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ตลอดจนมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบและพยากรณ์ฝุ่นได้ละเอียดมากขึ้น ในชื่อแอปพลิเคชัน AirBKK
ในส่วนของการทำงานที่บ้าน (Work from Home) นั้น กทม.มีมาตรการดำเนินการอยู่แล้ว ปัจจุบันมีเครือข่ายที่ร่วมกับ กทม.ประมาณ 100 บริษัท รวมกว่า 40,000 คน ที่พร้อมปฏิบัติตาม เมื่อมีคำแนะนำจากกทม.
"หน้าที่เราไม่ใช่การสั่ง แต่เป็นการให้ข้อมูล และออกคำแนะนำ เมื่อถึงภาวะวิกฤต ให้มีการ Work from Home" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
อย่างไรก็ตาม กทม. มีหลักเกณฑ์อยู่แล้วว่าปริมาณฝุ่นเท่าไรถึงจะเริ่มดำเนินการ โดยจะพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน แล้วจึงออกคำแนะนำให้ Work from Home ทั้งนี้ หากมีเอกชนใดสนใจเข้ามาเป็นพันธมิตรเครือข่าย กทม.ก็ยินดี