นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจติดตามสภาพน้ำและการไหลของน้ำในแม่น้ำชีจากปลายน้ำตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี เรื่อยไปตามจังหวัดขอนแก่น จังหวัดเลย จนถึงต้นน้ำที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นระยะทางกว่า 643 กิโลเมตร เพื่อตรวจเยี่ยมจุดเก็บน้ำสำคัญคือ เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนยโสธร เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนอุบลรัตน์ และจุดผันน้ำโครงการ โขง เลย ชี มูล บ้านคกมาด หมู่ 3 ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย
เนื่องจากแม่น้ำชีมีความยาวสูงสุดในประเทศ คือ 1,030 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 30.79 ล้านไร่ ซึ่งครอบคลุมหลายจังหวัดของภาคอีสาน ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ รัอยเอ็ด ยโสธร และ อุบลราชธานี โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดไปพิจารณาขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีโครงการสำคัญในปี 67 จำนวน 8 โครงการ ปริมาณน้ำ 91 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 36,865 ไร่ มีประชาชนได้ประโยชน์ 147,179 ครัวเรือน รวมถึงช่วยป้องกันน้ำท่วม 8,225 ไร่ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโครงการส่งน้ำกุมวาปี จ.อุดรธานี, พัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่หนองหาร จ.สกลนคร, ระบบระบายน้ำหลักชุมชนเมืองหนองบัวลำภู ส่วนในปี 68-70 มีจำนวน 26 โครงการ วงเงิน 29,729 ล้านบาท จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำ 369 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 650,854 ไร่ มีประชาชนได้ประโยชน์ 81,945 ครัวเรือน และสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ 15,083 ไร่
สำหรับการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่องค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง พร้อมเตือนให้ประชาชนเตรียมรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเอลนีโญ ซึ่งอาจส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ ดังนั้นต้องช่วยกันประหยัดน้ำ ปฏิบัติตามมาตรการที่หน่วยงานรัฐได้ให้ความรู้ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะต้องการเห็นประชาชนอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"ถึงแม้ธนาคารน้ำใต้ดินจะเป็นเรื่องใหม่แต่เป็นไปได้ เพราะโครงการเป็นประโยชน์ที่จะช่วยได้ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งหากเอลนีโญเกิดขึ้นมันจะแรง 3 ปี รัฐบาลคงไม่เมินเฉย ต้องทำทุกโครงการให้เต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ผมได้ให้ สทนช.ช่วยสนับสนุนประชาชนสำรวจการซึมดินในแต่ละพื้นที่ว่าดินทั่วประเทศนั้นเป็นอย่างไร เพราะจะสามารถคิดคำนวณในการปลูกพืชหรือทำการเกษตรต่างๆ ได้เหมาะสม รวมทั้งขอให้ สทนช.บูรณาการกับทุกหน่วยงานเพื่อรับมือภัยแล้ง ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบ ศึกษาการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน และจัดหาน้ำเมื่อเกิดการขาดแคลน เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน" นายสมศักดิ์ กล่าว