นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) กิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map (เกษตรผสมผสานและปศุสัตว์) ที่จังหวัดอุดรธานี ว่า ภาคเกษตรไทยประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง สินค้าการเกษตรล้นตลาดในบางช่วงเวลา ทำให้เกิดราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้ง เกษตรกรจำนวนมากผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่กิจกรรมการผลิตที่มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ข้อมูลเกษตร เศรษฐกิจและสังคม สามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ และบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิต และการตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี
ทั้งนี้ ตนมีนโยบาย "เงินบาทแรกของแผ่นดิน" คือ ให้ความสำคัญกับเงินจากน้ำ เงินจากดิน เงินจากหญ้า ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ ที่สามารถสร้างเม็ดเงินภาคเกษตร โดยเป้าหมายหลักต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน และต้องการเห็นลูกหลานเกษตรกรไทยมีอนาคตที่ดี มีรายได้ กลับมาทำอาชีพเกษตร โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรแบบเดิมที่ปลูกพืชชนิดเดียว ให้มีอาชีพเสริมด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาทำปศุสัตว์ เช่น ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ หรือเลี้ยงโค เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะเพียงแค่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ก็สามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวให้มั่นคงได้ เช่นเดียวกับพื้นที่แปลงเกษตรแห่งนี้ของนายวิชาญที่ประสบความสำเร็จ นับเป็นการดำเนินการที่ยอดเยี่ยม และถือเป็นแหล่งเรียนรู้ตัวอย่าง เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดการดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือในการมุ่งปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาทำภาคปศุสัตว์เชื่อมั่นว่าเกษตรกรไทยจะหลุดพ้นความยากจน มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมมุ่งหวังและเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเกษตรกรเจ้าของแปลงแล้วพบว่ามีความพึงพอใจเป็นอย่างมากที่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยยอมรับว่าการทำนาแบบแต่ก่อนนั้น ทำมากแต่รายได้น้อย แต่เมื่อมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมก่อนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าว 15 ไร่ มีรายได้ตลอดปี 14,940 บาท หลังปรับเปลี่ยนพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 148,700 บาท นอกจากนี้ยังเลี้ยงวัวอีก 50 ตัว คิดเป็นมูลค่ากว่าล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้มีเงินไปซื้อรถไถได้
"เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จและสามารถทำได้จริง มีรายได้หมุนเวียนทุกวัน และเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นเกษตรกรต้นแบบของการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาเป็นเกษตรผสมผสานและปศุสัตว์" นายอนุชา กล่าว
สำหรับแปลงนาของนายวิชาญ นามอาษา มีพื้นที่ 15 ไร่ เดิมทำนาแบบเชิงเดี่ยว ดินไม่เหมาะสมสำหรับทำนา ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ รายได้น้อย ได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เมื่อปี 65 โดยปรับเปลี่ยนนาข้าว เป็นเกษตรผสมผสานและหญ้าเลี้ยงสัตว์จำนวน 10 ไร่ ลดการปลูกข้าวเหลือ 5 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 5 ไร่ พืชผักผลไม้ 3 ไร่ คอกสัตว์และแหล่งน้ำ 2 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปรับระดับพื้นที่ขุดคูยกร่อง ขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และสระน้ำทฤษฎีใหม่ขนาด 3,500 ลบ.ม. พร้อมทั้งปรับปรุงบำรุงดินโดยนวัตกรรมของกรม สำหรับแผนการขยายโครงการในปี 2567 มีแผนดำเนินการในพื้นที่อุดรธานีจำนวน 4,750 ไร่
ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมสูง (S1) และมีความเหมาะสมปานกลาง (S2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเล็กน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และจูงใจเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเป็นกิจกรรมการเกษตรอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น การปศุสัตว์/ปลูกพืชอาหารสัตว์ การทำเกษตรผสมผสาน เนื่องจากปัจจุบันความต้องการบริโภคเนื้อวัวเพิ่มมากขึ้น การเลี้ยงโคเนื้อ ถือเป็นธุรกิจภายในครัวเรือนอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนได้เร็ว และมีความเสี่ยงน้อย จะเป็นอีกหนึ่งหนทางอาชีพที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำกิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-map ภายใต้โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri-Map) ซึ่งผลดำเนินงานตั้งแต่ปี 60-66 สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว เป็นกิจกรรมการเกษตรอื่นจำนวน 649,532 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกพืชผสมผสาน 542,217 ไร่ ประมง 20,178 ไร่ เลี้ยงสัตว์ 87,137 ไร่ ในส่วนจังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่ปลูกข้าว 1,893,080 ไร่ พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว 596,884 ไร่ การดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map ตั้งแต่ปีงบประมาณ 60-66 ของจังหวัดอุดรธานีดำเนินการแล้วรวมพื้นที่ 30,218 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 4,133 ราย