น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ตามที่ กทม.มีนโยบายในการบริหารเมืองให้มีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (61-80) รวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) ในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทุกรูปแบบ และหน่วยงานต่างๆ สามารถบริหารจัดการกับจุดเสี่ยงในเมืองได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการเรียนรู้ ตระหนักถึงความปลอดภัย และจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้การประสานงานและขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกรุงเทพมหานครจึงกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้านต่างๆ ในวันนี้
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 5 คณะฯ ดังนี้
1.คณะกรรมการอำนวยการฯ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์แนวทาง มาตรการ และแผนงานการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยและแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
2.คณะกรรมการดำเนินงานด้านกายภาพและทรัพยากรปฏิบัติการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินงานทางกายภาพ การจัดทำบัญชีข้อมูลเครื่องจักรกลสาธารณภัย อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้และยานพาหนะ การจัดหาทรัพยากรต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงภัยในปัจจุบัน จัดทำกรอบแนวทางในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพื้นที่เสี่ยงสาธารณภัยทุกลักษณะ
3.คณะกรรมการดำเนินงานด้านโครงสร้างระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการอัตรากำลังเครือข่ายสาธารณภัย มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผน การพัฒนาสมรรถนะบุคลากร จัดระบบการบริหารจัดการงานสาธารณภัย และการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชน จัดทำทะเบียนฐานข้อมูลอาสาสมัคร โดยจำแนกข้อมูลอาสาสมัครในประเภทต่าง ๆ
4.คณะกรรมการดำเนินงานด้านมาตรการลดความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม และฟื้นฟูเยียวยา มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผนด้านการเตรียมความพร้อม การประเมินความเสียหาย เพื่อการช่วยเหลือ และแผนฟื้นฟูเยียวยาการจัดหาเครื่องอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน การแจกจ่ายสิ่งของ การรับบริจาค เป็นต้น รวมถึงจัดฝึกอบรมการบัญชาการเหตุการณ์ และการฝึกซ้อมแผนในแต่ละระดับและชุมชน ประสานงานการขับเคลื่อน มาตรการลดความเสี่ยง
5.คณะกรรมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกรอบแนวทางในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสงบทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดสาธารณภัย ประสานงานการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัย รวบรวมข้อเสนอแนะด้านการแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ หรือประกอบกิจการอันกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ชี้แจงกรอบแนวทางและแผนการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพและทรัพยากรปฏิบัติการ ด้านโครงสร้างระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการอัตรากำลังเครือข่ายสาธารณภัย ด้านมาตรการลดความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม และฟื้นฟูเยียวยา และด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานด้านสาธารณภัยในทุกรูปแบบของประเภทภัยยังมีการทำงานที่ไม่ค่อยเป็นระบบ จึงเป็นที่มาของนโยบายในการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัย ในแง่ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงสาธารณภัยที่เป็นอัคคีภัยเท่านั้น แต่รวมทุกรูปแบบ อาทิ อุทกภัย วาตภัย โครงสร้างทางกายภาพ หรือภัยที่อาจเกิดขึ้นกับระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะมีการซักซ้อมการเผชิญเหตุอยู่แล้วแต่ก็เป็นการซ้อมแบบฟังก์ชันซึ่งไม่ได้ซ้อมร่วมกับฝูงชน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามีความปลอดภัยในหลายด้านเมื่อพูดถึงสาธารณภัยหรืออุบัติเหตุ อีกมุมหนึ่งคือภัยในลักษณะอาชญากรรมและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินซึ่งรวมอยู่ในนโยบายด้านความปลอดภัยด้วย ดังนั้นจึงมุ่งหวังที่จะทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น