กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อยู่ในระดับเริ่มวิกฤต คุกคามสุขภาพประชาชน คาดการณ์คุณภาพอากาศช่วง 1-2 วันข้างหน้า ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ได้สั่งการให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตสุขภาพของประชาชน โดยจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงให้เตรียมสำรองหน้ากากอนามัย หน้ากากชนิด N 95 ไว้ให้พร้อมหากมีความจำเป็นที่จะต้องแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง
น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกสธ. ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยสิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพของประชาชน หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือป่วยเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์
โดย นพ.ชลน่าน มีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ และแรงงานก่อสร้าง ซึ่งต้องทำงานท่ามกลางฝุ่นและความร้อนตลอดทั้งวัน จะมีความเสี่ยงสูงมาก แนะนำให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และหากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม สำหรับสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น สถานศึกษา สถานดูแลผู้สูงอายุ ควรจัดทำห้องปลอดฝุ่นเพื่อเป็นที่พักในช่วงค่าฝุ่นสูง และเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค เร่งสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงขึ้น
ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กองประเมินผลกระทบทางสุขภาพจัดทำข้อมูลความรอบรู้สุขภาพเรื่อง PM2.5 สื่อสารกับประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงตามนโยบายของรมว.สธ. โดยมีคำแนะนำการดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM2.5 ในเบื้องต้น ดังนี้
1. ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง
2. ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน
3. หากต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก หรือใส่หน้ากากกรองฝุ่น
4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนัก เมื่ออยู่นอกบ้าน
5. ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
6. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการ สัมผัสอากาศที่มีฝุ่นละออง
7. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
8. ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสีย ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง
สำหรับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 วันนี้ ภาพรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐาน 28 จังหวัด และมี 3 จังหวัดที่เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 แล้ว คือ พิษณุโลก นนทบุรี และสมุทรสาคร