นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ครบเกือบ 100% แล้ว พร้อมติดตามความเดือดร้อนของประชาชน และดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบและโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ล่าสุด อยู่ที่ 73.01% โดยเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (ถมทะเล) แล้วเสร็จ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ท่าเรือ การก่อสร้างระบบป้องกันมลพิษ และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภครองรับการพัฒนาในเฟสต่อไป ทั้งนี้ หากโครงการฯ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.67 และพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 70
ผู้ว่าฯ กนอ. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 นั้น พิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม
"กนอ. ดูแลและติดตามความเดือดร้อนของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดำเนินการจัดตั้งกองทุนมูลนิธิหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน และกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีคณะกรรมการกองทุนบริหารจัดการกองทุนตามที่ EHIA (Environmental and Health Impact Assessment : รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง) กำหนดอย่างครบถ้วน" ผู้ว่าฯ กนอ.ระบุ
นายวีริศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กนอ.จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ไปเป็นเงินทั้งสิ้น 93.5 ล้านบาท ยังเหลือค้างจ่าย 1 ราย เนื่องจากต้องรอเอกสารจากศาล และโอนเงินงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้กับชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ที่ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ 100%
"กนอ.เข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวประมง และชุมชนในพื้นที่ จึงดำเนินการตามขั้นตอน รวมถึงวิธีการเยียวยา ตามที่ EHIA กำหนด ด้วยความรอบคอบ และโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งแจ้งข้อมูลการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกรายทราบแล้ว หากผู้ได้รับผลกระทบรายใดไม่ได้รับเรื่อง หรือไม่ได้รับหนังสือแจ้งการเยียวยา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด หรือสายด่วน 1355 ตลอด 24 ชั่วโมง" นายวีริศ กล่าว