นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) เปิดเผยถึงการประชุมแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และประเทศไทย มีแนวโน้มอยู่ในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
กทม. จึงได้ดำเนินการเชิงรุกในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแบ่งสาเหตุหลักออกเป็น 3 สาเหตุ คือ 1. ยานพาหนะ หรือรถยนต์ 2. การเผาในที่โล่ง และ 3. ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจัยใหญ่ที่สุดของต้นเหตุฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ คือ ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง
โดย กทม. ดำเนินการเชิงรุก ด้วยการเข้าไปตรวจในไซต์ก่อสร้าง นอกจากตรวจเรื่องฝุ่นจากการก่อสร้างแล้ว ยังตรวจควันดำของยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งด้วย หากพบปัญหาค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จะมีการแจ้งเตือน 2 ครั้ง แต่หากยังไม่ดำเนินการแก้ไข จะยึดใบอนุญาตก่อสร้างทันที
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือบริษัทน้ำมันและค่ายรถยนต์ประมาณ 16 ราย จัดทำโปรโมชันเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องและเปลี่ยนน้ำมันเครื่องได้ในราคาถูก และไม่กระทบต่อรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากเครื่องยนต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดฝุ่น PM 2.5 ในเมืองกรุงได้กว่า 50%
ในส่วนของการเผาชีวมวลในที่โล่ง กทม. ได้ส่งเสริมเรื่องของรถบีบอัดฟางที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกษตรกรลดการเผาฟางและนำฟางไปจำหน่าย สร้างรายได้ให้เกษตรกรและยังเป็นการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาในที่โล่งได้ด้วย โดยดำเนินการแล้วที่เขตฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เช่น เขตหนองจอก เขตคลองสามวา
สำหรับการเผาชีวมวลในปริมณฑล กทม. จะประสานความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพื่อกวดขันและป้องกันให้เข้มข้น รวมถึงในส่วนของการเผาในที่โล่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และมีผลกระทบกับคนกรุงเทพฯ กทม. จะประสานกับรัฐบาลเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป ซึ่งในปัจจุบันมีการตั้ง War Room แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะ และกทม. ได้ตั้งเป้าหมายลดการเผาในที่โล่งให้เป็น 0% ให้สำเร็จในอนาคต
นอกจากนี้ กทม. ได้พัฒนาช่องทางสื่อสารและการแจ้งเตือนเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไปสู่ประชาชนผ่านสื่อมวลชนในช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับพฤติกรรม รวมถึงระบบแจ้งเตือนไปยังเครือข่ายบริษัทกว่า 150 บริษัท ซึ่งมีพนักงานกว่า 50,000 คน ที่สามารถประกาศให้พนักงาน Work from Home (WFH) ในช่วงวิกฤต PM 2.5 ได้ทันที
ในส่วนความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนอนุบาล กทม. จัดให้มีห้องปลอดฝุ่นแล้ว 758 ห้อง ครอบคลุมในชั้นอนุบาล 1 ครบถ้วน ซึ่งกทม. มีห้องเรียนอนุบาลทั้งหมด 1,743 ห้อง ในปีนี้จะดำเนินการต่อไปในชั้นอนุบาล 2 และ 3
ทั้งนี้ กทม. มีมาตรการที่ชัดเจนมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด อาทิ โครงการธงโรงเรียน แจ้งเตือนฝุ่นด้วยธงสีต่างๆ สร้างความตระหนักเรื่องฝุ่นให้นักเรียน หากฝุ่นมีค่าสีแดง ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนพิจารณาปิดการเรียนการสอนได้ โดยให้พิจารณาเป็นกรณีไป เนื่องจากในบางสถานการณ์ การที่นักเรียนอยู่ที่โรงเรียนในการควบคุมของคุณครูที่ไม่ให้นักเรียนทำกิจกรรมกลางแจ้ง ก็จะมีความปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่าอยู่บ้าน เป็นต้น
กทม. ยังได้ประสานความร่วมมือและประชาสัมพันธ์มาตรการต่างๆ ไปยังโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเอกชน เพื่อความร่วมมือแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมกันอีกด้วย
ด้าน นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม กล่าวว่า กทม. ได้ร่วมมือกับหลายองค์กรในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมและลดปริมาณฝุ่นละออง พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนให้ข้อมูลแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสื่อสาร การแจ้งเตือนประชาชน และการให้ข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ไปถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง
โดยการขอความร่วมมือสื่อมวลชน เพิ่มช่องทางเผยแพร่ความรู้ด้านฝุ่น PM 2.5 ในช่วงการพยากรณ์อากาศ เช่น การเสริมการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ 3-7 วันข้างหน้า แนวโน้มการระบายอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ สรุปจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผลการตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น จำนวนผู้ป่วย วิธีการดูแลตัวเอง แนวทางการรักษาสุขภาพ ข่าวสารนโยบาย/ มาตรการลดฝุ่น ข้อร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue และการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของคนกรุงเทพฯ การดูแลป้องกันสุขภาพจากอันตรายของฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือของภาคประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐในการลดแหล่งกำเนิดฝุ่น
นอกจากนี้ กทม. ยังเปิดกลุ่มไลน์ "ห้องข่าวฝุ่น PM2.5 BMA" เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่าง กทม. กับสื่อมวลชน ในเรื่องของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะให้สื่อมวลชนสามารถเผยแพร่ข่าวสาร และความรู้ไปสู่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ยิ่งขึ้น